27 กุมภาพันธ์ 2551

แนวคิดไฮสโคป

ความเป็นมา

ดร.เดวิด ไวคาร์ท (Dr.David Weikart) ประธานมูลนิธิวิจัยการศึกษาไฮสโคป (High/Scope Educational Research Foundation) เป็นผู้ริเริ่มและร่วมกับคณะนักวิชาการและนักวิจัย อาทิ แมรี่ โฮแมน (Mary Hohmann) และ ดร.แลรี่ ชไวฮาร์ต (Dr.Larry Schweinhart) พัฒนาขึ้นจากโครงการเพอรี่ พรี สคูล (Perry Preschool Project) ตั้งแต่พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ Head Start เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีการศึกษาที่เหมาะสม และประสบความสําเร็จในชีวิต

มูลนิธิวิจัยการศึกษาไฮสโคปได้ศึกษาเปรียบเทียบเด็ก 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่ได้รับการสอนจากครูโดยตรง (Direct Instruction) กลุ่มเนอร์สเซอรี่แบบดั้งเดิม (Traditional Nursery) และกลุ่มที่ได้รับประสบการณ์โปรแกรมไฮสโคป จากการศึกษาติดตามเด็กเหล่านี้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอายุ 29 ปี พบว่ากลุ่มที่เรียนด้วยโปรแกรมไฮสโคปมีปัญหาพฤติกรรมทางสังคม-อารมณ์ เช่น การถูกจับข้อหาลักขโมย ทำร้ายผู้อื่น บกพร่องทางอารมณ์ และล้มเหลวในชีวิตน้อยกว่าอีก 2 กลุ่ม ดังนั้น โปรแกรมนี้จึงพิสูจน์ได้ว่าช่วยป้องกันอาชญากรรรม เพิ่มพูนความสำเร็จทางการศึกษาและผลผลิตตลอดชีวิต (Weikart and others, 1978 และSchweinhart, 1988 และ 1997)

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ได้พัฒนาระบบการฝึกอบรมบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ เรียนรู้ได้ง่าย เผยแพร่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ครูจำนวนมากกว่า 33,000 คน ได้รับการฝึกอบรมในเรื่องไฮสโคป และจากการสำรวจสมาชิกมากกว่า 200,000 คน ของสมาคมการศึกษาปฐมวัยแห่งชาติ (NAEYC) พบว่า ร้อยละ 28 ของสมาชิกได้รับการฝึกอบรมในเรื่องไฮสโคป และร้อยละ 44 ใช้โปรแกรมไฮสโคปในบางบริบทด้วย (Schweinhart, 1997)

ทฤษฎีที่มีอิทธิพล

ในระยะเริ่มต้น การพัฒนาโปรแกรมไฮสโคปใช้ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Cognitive Theory) ของเปียเจต์ (Piaget) เป็นพื้นฐานโดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียนซึ่งเน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (Active Learning) ระยะต่อมามีการผสมผสานทฤษฎีและแนวคิดอื่นๆ เช่น ทฤษฎีของอีริกสัน (Erikson) ในเรื่องการให้โอกาสเด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่างๆอย่างอิสระและทฤษฎีของไวก๊อตสกี้ (Vygotsky) ในเรื่อง ปฏิสัมพันธ์และการใช้ภาษา เป็นต้น

หลักการ

โปรแกรมไฮสโคปเน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำผ่านมุมเล่นที่หลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กและการแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้น

การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ

หลักการที่สําคัญของไฮสโคปในระดับปฐมวัย คือ การเรียนรู้แบบลงมือกระทํา ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสําคัญในการพัฒนาเด็ก การเรียนรู้แบบลงมือกระทําจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโปรแกรมที่พัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ การเรียนรู้แบบลงมือกระทํา หมายถึง การเรียนรู้ซึ่งเด็กได้จัดกระทํากับวัตถุ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล ความคิดและเหตุการณ์ จนกระทั่งสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Hohmann and Weikart,1995) ทั้งนี้ องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบลงมือกระทํา ได้แก่

1. การเลือกและตัดสินใจ เด็กจะเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมจากความสนใจและความตั้งใจของตนเอง เด็กเป็นผู้เลือกวัสดุอุปกรณ์และตัดสินใจว่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์นั้นอย่างไร การที่เด็กมีโอกาสเลือกและตัดสินใจทําให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้ใหญ่ ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการเลือกและการตัดสินใจต้องจัดให้เด็กมีอิสระที่จะเลือกได้ตลอดทั้งวันขณะที่ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันไม่ใช่เฉพาะในช่วงเวลาเล่นเสรีเท่านั้น

2. สื่อ ในห้องเรียนที่เด็กเรียนรู้แบบลงมือกระทำจะมีเครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย เพียงพอ และเหมาะสมกับระดับอายุของเด็ก เด็กต้องมีโอกาสและมีเวลาเพียงพอที่จะเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างอิสระ เมื่อเด็กใช้เครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เด็กจะมีโอกาสเชื่อมโยงการกระทำต่าง ๆ การเรียนรู้ในเรื่องของความสัมพันธ์ และมีโอกาสในการแก้ปัญหามากขึ้นด้วย

3. การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 การเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 การให้เด็กได้สำรวจและจัดกระทำกับวัตถุโดยตรงทำให้เด็กรู้จักวัตถุ หลังจากที่เด็กคุ้นเคยกับวัตถุ แล้วเด็กจะนำวัตถุต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องกันและเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ ผู้ใหญ่มีหน้าที่จัดให้เด็กค้นพบความสัมพันธ์เหล่านี้ด้วยตนเอง

4. ภาษาจากเด็ก สิ่งที่เด็กพูดจะสะท้อนประสบการณ์และความเข้าใจของเด็ก ในห้องเรียนที่เด็กเรียนรู้แบบลงมือกระทําเด็กมักจะเล่าว่าตนกําลังทําอะไร หรือทําอะไรไปแล้วในแต่ละวัน เมื่อเด็กมีอิสระในการใช้ภาษาเพื่อสื่อความคิดและรู้จักฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เด็กจะเรียนรู้วิธีการพูดที่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ได้พัฒนาการคิดควบคู่ไปกับการพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองด้วย

5. การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ในห้องเรียนการเรียนรู้แบบลงมือกระทําต้องสร้างความสัมพันธ์กับเด็ก สังเกตและค้นหาความตั้งใจ ความสนใจของเด็ก ผู้ใหญ่ควรรับฟังเด็ก ส่งเสริมให้เด็กคิดและ ทําสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง

ในห้องเรียนที่เด็กเรียนรู้แบบลงมือกระทํา เด็กจะเผชิญกับประสบการณ์สําคัญซํ้าแล้วซํ้าอีกในชีวิตประจําวันอย่างเป็นธรรมชาติ ประสบการณ์สําคัญเป็นกุญแจที่จําเป็นในการสร้างองค์ความรู้ของเด็กเป็นเสมือนกรอบความคิดที่จะทําความเข้าใจการเรียนรู้แบบลงมือกระทําเราสามารถให้คําจํากัดความได้ว่า ประสบการณ์สําคัญเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่เด็กจะต้องหามาให้ได้โดยการปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ คน แนวคิดและเหตุการณ์ สำคัญต่างๆ อย่างหลากหลาย ประสบการณ์สำคัญเป็นกรอบความคิดให้กับผู้ใหญ่ในการเข้าใจการเรียนรู้ของเด็ก สามารถวางแผนการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมและประเมินพัฒนาการของเด็กอย่างเหมาะสม

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก (Adult-Child Interaction)

การเรียนรู้แบบลงมือกระทํานั้นจะประสบความสําเร็จได้ เมื่อผู้ใหญ่และเด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไฮสโคปจึงเน้นให้ผู้ใหญ่สร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัยให้แก่เด็ก การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเด็กนั้นเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก เด็กจะกล้าพูด กล้าแสดงออก และกล้าปรึกษาปัญหา ผู้ใหญ่จะต้องใส่ใจแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่เบื่อหน่ายที่จะตอบคําถามของเด็ก หรือป้อนคําถามให้เด็กเกิดความคิด จินตนาการ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเด็กนั้นนับได้ว่ามีคุณค่ามากกว่าการยกย่อง ชมเชย การให้รางวัล

ปัจจัยสําคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์

1. ความไว้วางใจ (Trust) ความไว้วางใจทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ประสบการณ์ในช่วงนี้เป้นพื้นฐานสําคัญในการพัฒนา "ความไว้วางใจ" ในวัยต่อมา โดยเริ่มจากบุคคลในครอบครัวและขยายต่อไปยังโรงเรียนและวงสังคมที่กว้างขึ้น สิ่งนี้จะเป็นการสร้างสัมพันธภาพบนพื้นฐานแห่งความไว้วางใจซึ่งกันและกันต่อไป

2. การเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy) การเป็นตัวของตัวเองเป็นความสามารถในการพึ่งพาตนเอง การทดลองทําสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองซึ่งจะทําให้เกิดความภาคภูมิใจเมื่อทําสําเร็จ ดังนั้น ถ้าผู้ใหญ่ให้กำลังใจในสิ่งที่เด็กทําได้ตามความสามารถและวิธีการของเด็กแต่ละคน เด็กจะพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้มีความสามารถพึ่งตนเองและนําตนเองได้

3. ความคิดริเริ่ม (Initiative) เด็กสามารถมีส่วนร่วมในการทํากิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะไปสนับสนุนขั้นความเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเด็กได้รับอิสระในการคิด วางแผน และริเริ่มทํากิจกรรมต่างๆ ผู้ใหญ่มีเวลาให้กับเด็กในการตอบคําถามก็จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กมี แนวโน้มที่จะค้นคว้าศึกษา และสํารวจ เด็กจะรู้สึกมั่นใจว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการเลือก ตัดสินใจ และกระทําสิ่งต่าง ๆ ได้

4. การร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) การร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นเป็นความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้จักสร้างมิตรภาพและความรู้สึกของการมีส่วนร่วม ในช่วงปฐมวัยเด็กมีความสามารถในการใช้ภาษาดีขึ้น เด็กจะแสดงความรู้สึกของตนเองที่สามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้มากขึ้น

5. เชื่อมั่นในตนเอง (Self-confidence) ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นสิ่งที่แสดงว่าตนเองสามารถประสบความสําเร็จ และสามารถช่วยเหลือสังคมได้ ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นสิ่งสําคัญที่จะกระตุ้นให้ต่อสู้กับอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ผู้ใหญ่สามารถพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กได้โดยการสนับสนุนให้เด็กมีโอกาสประสบความสําเร็จจากการใช้ความสามารถของตนเองอย่างเหมาะสม เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

กลยุทธ์ในการสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนการเรียนรู้

1. ผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็กแสดงความคิดเห็นและลงมือปฏิบัติ มีส่วนร่วมกับเด็ก เปิดใจรับฟังความคิดเห็น รับรู้ความรู้สึก และความต้องการของเด็ก และเรียนรู้จากเด็ก

2. สนใจในความสามารถของเด็ก ค้นหาความสนใจของเด็ก มองสถานการณ์ในมุมมองของเด็ก ให้พ่อแม่และผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในสิ่งที่เด็กสนใจ วางแผนการเรียนการสอนโดยคํานึงถึงความสามารถและความสนใจของเด็ก

3. สร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กอย่างแท้จริง แบ่งปันสิ่งที่ตนเองมีกับเด็ก เช่น ตอบสนองความสนใจของเด็กด้วยความเอาใจใส่ ให้ข้อมูลสะท้อนกลับแก่เด็กอย่างถูกต้องและเหมาะสม ถามและตอบอย่างตรงไปตรงมา

4. ส่งเสริมการเล่นของเด็ก สังเกตและสนใจกับกิจกรรมการเล่นของเด็ก มีส่วนร่วมในการเล่นกับเด็กด้วยบรรยากาศที่สนับสนุน

5. ใช้วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งขณะอยู่ร่วมกัน การแก้ปัญหาความขัดแย้งของเด็กๆ โดยคํานึงถึงความจริง ความมั่นคง และความอดทน จะช่วยให้เด็กรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่ตามมา ปลูกฝังให้เด็กมีความรับผิดชอบ การทํางานร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็กเพื่อช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยดําเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ เพื่อเป็นการประนีประนอมข้อขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้น

1) ให้เด็กสงบอารมณ์ก่อน
2) ยอมรับความรู้สึกของเด็ก
3) รวบรวมข้อมูลจากเด็ก เช่น เกิดอะไรขึ้น อะไรคือสาเหตุให้เด็กอารมณ์เสีย
4) ย้อนกลับมาถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
5) ให้เด็กช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหา
6) คอย และสนับสนุนการตัดสินใจของเด็ก

การจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ (Learning Environment)

การจัดสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยมีความสําคัญต่อการพัฒนาและการเรียนรู้ของเด็ก ตามหลักการของไฮสโคปถือว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเสมือนครูคนที่ 3 และเป็นส่วนหนึ่งของวงล้อการเรียนรู้ ซึ่งมีสาระครอบคลุม 3 เรื่อง ได้แก่ พื้นที่ สื่อ และการจัดเก็บ โดยแต่ละเรื่องมีรายละเอียด ดังนี้

พื้นที่ (Space)

เด็กปฐมวัยเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทํา เด็กจึงต้องการพื้นที่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ พื้นที่ในการใช้สื่อต่างๆ สํารวจ เล่นก่อสร้าง และแก้ปัญหา พื้นที่ในการเคลื่อนไหว พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สําหรับเล่นคนเดียวและเล่นกับผู้อื่น พื้นที่เก็บของใช้ส่วนตัว และจัดแสดงผลงาน พื้นที่สําหรับผู้ใหญ่ที่จะร่วมเล่นและสนับสนุนความสนใจของเด็ก การจัดแบ่งพื้นที่ภายในห้องเรียนจะประกอบด้วย 5 ส่วน ดังนี้

1. พื้นที่เก็บของใช้ส่วนตัวของเด็ก เช่น ผ้ากันเปื่อน แปรงสีฟันแก้วนํ้า ฯลฯ อาจจะเป็นตู้ยาวแยกเป็นช่องรายบุคคล หรือชั้นวางของเป็นช่องๆ โดยมีชื่อเด็กติดแสดงความเป็นเจ้าของ

2. พื้นที่กิจกรรมกลุ่มใหญ่ เช่น กิจกรรมฟังนิทาน ร้องเพลงเคลื่อนไหว ฯลฯ ที่ทําร่วมกันทั้งชั้นเรียน

3. พื้นที่กิจกรรมกลุ่มย่อย เช่น กิจกรรมศิลปะร่วมมือ กิจกรรมทําหนังสือนิทานร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย กิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ฯลฯ โดยสมาชิกกลุ่มที่เหมาะสม คือ 4-6 คน ทั้งนี้เพื่อครูจะได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์ได้ใกล้ชิดและทั่วถึงมากขึ้น

4. พื้นที่สําหรับมุมเล่น ไฮสโคปได้กําหนดให้มีมุมพื้นฐาน 5 มุม ประกอบด้วย มุมหนังสือ มุมบล็อก มุมบ้าน มุมศิลปะ และมุมของเล่นซึ่งหมายถึงเครื่องเล่นสัมผัส เกมและของเล่นบนโต๊ะ ทั้งนี้ ไฮสโคปมีหลักการเรียกชื่อมุมต่างๆ ด้วยภาษาที่เด็กเข้าใจ จะไม่ใช้ภาษาซึ่งเป็นนามธรรมมากๆ เช่น มุมบทบาทสมมติ มุมเครื่องเล่นสัมผัส นอกจากนี้ ไฮสโคปเชื่อว่ามุมเล่นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของเด็ก เช่น เมื่อเด็กเกิดความสนใจหลากหลายมุมบ้านก็อาจปรับเปลี่ยนเป็นมุมร้านเสริมสวยมุมหมอ หรือมุมร้านค้าได้ตามบริบทของสิ่งที่เด็กสนใจในขณะนั้น

5. พื้นที่เก็บของใช้ครู เช่น หนังสือ คู่มือครู เอกสารโปรแกรมสื่อการสอนส่วนรวมของชั้นเรียน เช่น วัสดุศิลปะต่าง ๆ เป็นต้น

ํสื่อ ( Materials)

สื่อ หมายถึง วัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทั้งประเภท 2 มิติ 3 มิติ สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น สื่อที่เอื้อให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยมีการจัดการใช้สื่อที่เริ่มต้นจากสื่อที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม กล่าวคือ เริ่มต้นจากสื่อของจริง ของจําลอง ภาพถ่าย ภาพโครงร่าง และสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่นเรื่องกล้วย ให้เรียงลําดับสื่อจากกล้วยจริง กล้วยจําลอง ภาพถ่ายกล้วย ภาพวาด หรือภาพโครงร่าง และคําว่า "กล้วย" อยู่ท้ายสุด ทั้งนี้เพราะการใช้สื่อต้องเหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะ ความแตกต่างระหว่างบุคคล ความสนใจและความต้องการของเด็กที่หลากหลาย ตลอดจนสื่อที่สะท้อนชีวิตครอบครัวของเด็ก ไฮสโคปเน้นหลักการข้อนี้มาก ดังนั้น หนังสือนิทาน นิตยสาร ภาพถ่าย ตุ๊กตา เสื้อผ้า มุมบ้าน มุมดนตรี หรือของเล่น เช่น ภาพตัดต่อ ควรสะท้อนภาษา บรรยากาศ อาชีพ และสิ่งก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรมในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ด้วย

การจัดเก็บ (Storage)

ไฮสโคปให้ความสำคัญกับระบบจัดเก็บสื่อด้วยวงจร "ค้นหา-ใช้-เก็บคืน" (Find-Use-Return Cycle) ตามกรอบแนวคิด ดังนี้

1. สื่อที่เหมือนกันจัดเก็บหรือจัดวางไว้ด้วยกัน
2. ภาชนะบรรจุสื่อควรโปร่งใสเพื่อให้เด็กมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายในได้ง่าย และควรมีมือจับเพื่อให้สะดวกในการขนย้าย
3. การใช้สัญลักษณ์ (Labels) ควรมีความหมายต่อการเรียนรู้ของเด็ก สัญลักษณ์ทํามาจากสื่ออุปกรณ์ของจริง ภาพถ่ายหรือภาพสําเนาภาพวาด ภาพโครงร่างหรือภาพประจุด หรือบัตรคําติดคู่กับสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ไฮสโคปเชื่อว่าวงจร "ค้นหา-ใช้-เก็บคืน" ส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะเด็กๆ ได้ฝึกการสังเกต เปรียบเทียบ จัดกลุ่ม เด็กได้สั่งสมประสบการณ์ส่งเสริมความรับผิดชอบ รู้จักมีนํ้าใจช่วยเหลือ เป็นการเรียนรู้ทางสังคม ดังนั้น ครูจึงควรจัดเวลา "เก็บของเล่น" ทุกวันอย่างเพียงพอ มีสัญญาณเตือนก่อนเวลาจะสิ้นสุด ครูควรช่วยเด็กเก็บของเล่นเพื่อเป็นแบบอย่างและทําให้เด็กสนุกสนาน ครูต้องไม่ใช้การเก็บของเล่นเข้าที่เป็นการลงโทษเด็ก

นอกจากนี้สื่อจะต้องจัดวางไว้ในระดับสายตาเด็ก (Eye-level)เพื่อให้เด็กมองเห็นได้ชัดเจน สามารถหยิบใช้และจัดเก็บได้ด้วยตนเองไม่ใช้อยู่สูงจนเป็นอันตรายเวลาเอื้อมหยิบ หรือต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ให้หยิบให้ตลอดเวลา


กระบวนการวางแผน-ปฏิบัติ-ทบทวน

การวางแผน (Plan)

การวางแผน คือ กระบวนการคิดของเด็กเกี่ยวกับเป้าหมายที่จะกําหนดการกระทําที่คาดหวัง การวางแผนของเด็กขึ้นอยู่กับอายุ ความสามารถทางการสื่อสารและการใช้ภาษา เด็กอาจวางแผนโดยการกระทําท่าทางหรือคําพูด การวางแผนมีความสําคัญเนื่องจากเป็นการสนับสนุนความคิด การเลือกและการตัดสินใจของเด็กที่ชัดเจน ส่งเสริมความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของเด็กและความรู้สึกในการควบคุมตนเอง ทําให้เด็กมีความสนใจการเล่นที่ได้วางแผนไว้ ส่งเสริมพัฒนาการการเล่นที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น

ในช่วงการวางแผนเด็กจะได้พัฒนาความสามารถในการสื่อถึงความตั้งใจ การวางแผนของเด็กอาจมีทั้ง แผนงานที่ไม่ชัดเจน คือ เด็กสามารถบอกได้เพียงว่าจะเลือกมุมใดแต่ยังไม่มีภาพในใจว่าต้องการทําอะไร แผนงานที่เป็นกิจวัตร คือ เด็กบอกได้ว่าจะเลือกเล่นมุมใด และมีภาพในใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสบการณ์หรือควรใช้วัสดุอุปกรณ์ในแต่ละมุมอย่างไร แผนงานที่มีความละเอียดชัดเจน คือ เด็กสามารถวางแผนงานที่มีความซับซ้อนซึ่งจะกล่าวถึงกิจกรรม กระบวนการ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นเป้าหมายหรือผลผลิต เด็กจะได้วางแผนที่หลากหลายตลอดเวลา ได้สร้างแผนงานจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะทํางาน

ครูสามารถสนับสนุนการวางแผนของเด็กได้โดยการสังเกตลักษณะแผนงานของเด็กแต่ละคน วางแผนกับเด็กอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และประสบการณ์ที่ช่วยทําให้เด็กมีความสนใจในการวางแผนสนทนากับเด็กเป็นรายบุคคลเกี่ยวกับแผนงานของเด็ก ทั้งนี้ วิธีที่เด็กใช้วางแผนอาจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การปฏิบัติ / การทํางาน (Do / Work time)

การทํางานเป็นช่วงเวลาที่เด็กได้ลงมือกระทํา เล่น และแก้ปัญหาอย่างมีจุดมุ่งหมาย ตั้งอกตั้งใจ และได้เรียนรู้ตามประสบการณ์สําคัญ

ช่วงเวลาการทํางานเป็นช่วงที่เด็กได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ตั้งใจไว้ ค้นพบความคิดใหม่ๆ เป็นช่วงที่เด็กต้องเลือกและตัดสินใจใช้วัสดุอุปกรณ์บริเวณและขั้นตอนในการเล่น ซึ่งทําให้เด็กเป็นผู้ทํางานอย่างจริงจัง เด็กได้การเล่นของเด็กคือความต้องการที่จะสํารวจ ทดลอง ประดิษฐ์ สร้างสรรค์และเลียนแบบ ดังนั้น เมื่อเด็กได้วางแผน กิจกรรมจึงมีลักษณะทั้งการทํางานที่จริงจังและการเล่นที่มีความสนุกสนานและสร้างสรรค์อย่างเป็นธรรมชาติ

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เด็กได้มีส่วนร่วมในสังคมจากการวางแผนเล่นเป็นคู่หรือกลุ่ม หรือทํางานคนเดียวแต่ตระหนักถึงผู้อื่น และได้แก่ ปัญหาจากการทํางานที่เด็กจะพบว่ามีทั้งสิ่งที่เป็นไปตามที่เขาคาดหวังและปัญหา เขาจะค้นพบความรู้ใหม่ที่ทําให้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับลักษณะกายภาพและสังคม การลงมือกระทําจากสิ่งที่เด็กริเริ่มและประสบการณ์ตรงทําให้เด็กได้สรรค์สร้างความรู้ด้วยตนเอง

ครูสังเกต เรียนรู้ และสนับสนุนการเล่นของเด็ก ในช่วงการทํางานครูสามารถค้นพบได้ว่าเด็กแต่ละคนมีวิธีการคิดและใช้เหตุผลอย่างไร มักจะเล่นกับใครเสมอๆ เด็กได้ใช้ความรู้อย่างไรในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางให้ครูมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กตลอดวัน สิ่งที่เด็กปฏิบัติในช่วงเวลาของการทํางาน คือ การทําตามแผนงาน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และทําให้แผนงานสมบูรณ์เด็กได้เล่นในบริบททางสังคมที่มีความหลากหลายในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเล่นแบบสํารวจ สร้างสรรค์ บทบาทสมมติ และเกม เด็กได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนและครูอย่างเป็นธรรมชาติ

ครูสามารถสนับสนุนเด็กในช่วงเวลาของการทํางานได้โดยการสังเกตลักษณะการทํางานของเด็กแต่ละคน จัดเตรียมบริเวณการทํางาน ค้นหาสิ่งที่เด็กกําลังทํา ได้แก่ สถานภาพของการเล่น ( เริ่ม กําลังทําเปลี่ยนแปลงหรือเสร็จสมบูรณ์ตามแผนงาน ) บริบททางสังคม (เล่นคนเดียว เป็นคู่ กลุ่ม ) รูปแบบการเล่น ( สำรวจ สร้างสรรค์ บทบาทสมมติ เกม ) และประสบการณ์สําคัญ ครูสังเกตเด็กเพื่ออํานวยความสะดวก มีส่วนร่วมในการเล่นกับเด็ก สนทนาและส่งเสริมการแก้ปัญหาของเด็ก พิจารณาปฏิสัมพันธ์จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว บันทึกการสังเกตเด็ก

การทบทวน (Recall time)

ช่วงของการทบทวนเป็นช่วงที่เด็กได้สะท้อน พูดคุย และนำเสนอเกี่ยวกับสิ่งที่ทําในช่วงการทํางาน ในกระบวนการวางแผนเด็กได้ตั้งเป้าหมายและคาดเดาการกระทําล่วงหน้า ในกระบวนการทบทวนเด็กได้ทําความเข้าใจโดยการใช้ภาษา การอภิปราย และการวิเคราะห์เชื่อมโยงสะท้อนความคิดเกี่ยวกับการกระทําและประสบการณ์ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างความเข้าใจและตีความสิ่งที่ได้ปฏิบัติ ได้ตระหนักถึงความเกี่ยวเนื่องจากการวางแผน การกระทํา และผลที่ได้รับ ได้พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง เป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้ฝึกการเล่าเรื่อง การบรรยาย เด็กจะได้ฝึกความสามารถในการแสดงให้ผู้อื่นเห็น และเข้าใจประสบการณ์ของตน ได้ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นอดีต การทบทวนทําให้เด็กสะท้อนกลับไปยังเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ การกระทําซึ่งได้สำรวจหรือการปรับปรุงแผนงานที่วางไว้ และผลผลิตที่ได้รับในปัจจุบัน ทำให้เขาได้พิจารณาตั้งแต่อดีตซึ่งเป็นตัวชี้นําปัจจุบันและอนาคต นับเป็นทักษะที่นําไปใช้ได้ในชีวิต

ครูสามารถส่งเสริมเด็กในช่วงของการทบทวนโดยการสังเกตการทบทวนของเด็กแต่ละคน ทบทวนกับเด็กในบรรยากาศที่สงบ อบอุ่น เช่น ทบทวนในกลุ่มอย่างใกล้ชิด ในการทบทวนครูควรช่วยกระตุ้นการระลึกประสบการณ์ของเด็ก จัดหาวัสดุอุปกรณ์ หรือประสบการณ์ที่ทําให้เด็กสนใจ เช่น การเยี่ยมชมตามมุมที่เด็กสร้างไว้ ใช้เกม เช่น เก้าอี้ดนตรีโดยให้เด็กที่ได้นั่งได้ทบทวนก่อน เป็นต้น ใช้เพื่อนร่วมงานหรืออุปกรณ์ร่วมด้วย หรืออาจใช้สัญลักษณ์ เช่น ละครใบ้ แผนภูมิ การวาดรูป เป็นต้น

การประเมิน (Assessment)

ในโปรแกรมไฮสโคป การประเมินถือเป็นงานโดยตรงของครูที่จะต้องตั้งใจปฏิบัติและเอาใจใส่อย่างเต็มที่ ครูไฮสโคปจะทํางานร่วมกันเป็นคณะ ในแต่ละวันครูทุกคนจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ข้อมูลนี้ได้จากการสังเกตและการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กในกิจวัตรประจําวัน โดยครูจะจดบันทึกสั้นตามสิ่งที่เห็นและได้ยินอย่างเที่ยงตรง สมาชิกครูที่ร่วมกันสอนจะมีการวางแผนประจำวันร่วมกันก่อนที่เด็กจะมาถึงโรงเรียน หรือหลังจากที่เด็กกลับบ้าน หรือในขณะที่เด็กนอนพักผ่อนตอนกลางวัน ครูจะแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากการสังเกตเด็ก ทําการวิเคราะห์ข้อมูลในด้านประสบการณ์สําคัญ และวางแผนสำหรับวันต่อไป

จุดมุ่งหมายหลักของการประเมิน คือ การประเมินคุณภาพของโปรแกรม และพัฒนาการเด็กซึ่งไฮสโคปได้สร้างแบบประเมินคุณภาพโปรแกรม (High/Scope Program Quality Assessment หรือ PQA) และแบบสังเกตบันทึกพฤติกรรมเด็ก (High/Scope Child Observation Record หรือ COR) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. แบบประเมินคุณภาพโปรแกรม (PQA)

ไฮสโคป ได้จัดทําแบบประเมินคุณภาพโปรแกรม (PQA) ประกอบด้วยมาตรฐานคุณภาพด้านต่างๆ เช่น ด้านการจัดห้องเรียน สื่อ วัสดุ ครุภัณฑ์ กิจวัตรประจําวัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก การวางแผน และการประเมินเป็นคณะ ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ผู้ปกครองการฝึกอบรมครูระหว่างประจําการและการนิเทศ ในแต่ละด้านจะแยกออกเป็นข้อย่อย แต่ละข้อย่อยกําหนดเป็นระดับ 1-5 มีขั้นตอนการให้คะแนน PQA ดังนี้

ขั้นที่ 1 บันทึกข้อมูลสนับสนุน รวมทั้งรายการสื่อ วัสด เหตุการณ์สั้นๆ ที่ได้จากการสังเกต รวมทั้งจดบันทึกคําพูดของเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งการจดบันทึกนี้ จะต้องสั้น ตรง กระชับ เฉพาะเจาะจง เป็นจริงตามที่ครูและเด็กพูดหรือปฏิบัติ

ขั้นที่ 2 ขีดเส้นใต้ประโยค พยางค์ ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นคุณภาพโปรแกรม

ขั้นที่ 3 วงกลมระดับที่เหมาะสม ในแบบประเมินคุณภาพโปรแกรมปฐมวัย (PQA) ว่าอยู่ในระดับ 1, 2, 3, 4 หรือ 5

2. แบบสังเกตบันทึกพฤติกรรมเด็ก (COR)

COR เป็นเครื่องมือประเมินพัฒนาการเด็กที่ไฮสโคปสร้างขึ้นเพื่อนํามาใช้แทนแบบทดสอบซึ่งถือว่าไม่เหมาะสมกับเด็ก เครื่องมือชิ้นนี้ ไฮสโคปใช้กับเด็กอายุ 2 - 6 ปี โดยสังเกตเด็กขณะทํากิจกรรมปกติในแต่ละวัน ผู้ที่สังเกตจะต้องผ่านการฝึกอบรมการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมเพื่อที่จะสามารถใช้ COR ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แบบสังเกตบันทึกพฤติกรรมเด็ก (COR) ช่วยให้ครูที่ทํางานอยู่ในโปรแกรมที่พัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ ได้สังเกตเด็ก และบันทึกพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกในกิจวัตรประจําวันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ COR จะช่วยชี้ให้เห็นทักษะและศักยภาพของเด็กแต่ละคน ทําให้ครูวางแผนการสอน และปรับสื่อการเรียนการสอน เทคนิควิธีการและกิจกรรมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล

รายการสังเกตใน COR มี 6 รายการ ตามประสบการณ์สำคัญในไฮสโคป คือ

1. การริเริ่ม (Initiative)
2. ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relations)
3. การนําเสนออย่างสร้างสรรค์ (Creative Representation)
4. ดนตรีและการเคลื่อนไหว (Music and Movement)
5. ภาษาและการรู้หนังสือ (Language and Literacy)
6. ตรรกและคณิตศาสตร์ (logic and Mathematics)

ที่มา...http://www.thaikids.org/highscope/index_highscope.htm

ภาษาธรรมชาติ

ความเป็นมา

ภาษาธรรมชาติ (Whole Language) เป็นคําที่พบครั้งแรกในหนังสือภาพของเด็กที่เขียนโดย จอห์น อามอส โคมินิอุส ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ (กู๊ดแมน : ๒๕๑๓) ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่เหมือนย่อโลกไว้ และภาษาธรรมชาตินั้นเต็มไปด้วยภาพสิ่งต่าง ๆ - ชื่อ - คําอธิบายสิ่งเหล่านั้น

ส่วนความหมายของภาษาธรรมชาติของโคมินิอุส จะไม่เหมือนความหมายในปัจจุบันเสียทั้งหมด แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นลักษระเด็นสําคัญที่คํานึงถึงวิธีการเรียนรู้แบบเด็ก ๆ ด้วยการใช้ภาษาเช่นเดียวกับปัจจุบันที่เราใช้นี้เอง โคมินิอุสเชื่อว่า เด็กสามารถค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ ได้ด้วยการนําเสนอด้วยสิ่งที่เด็กคุ้นเคยในชีวิตอยู่แล้ว เด็กจะเข้าใจสิ่งของที่เป็นรูปธรรมได้โดยการใช้ภาษาถิ่นหรือภาษาในชีวิตประจําวันของเด็ก

นักการศึกษาในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ - ๒๐ ได้ระบุว่าหลักการของการเรียนรู้ภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวมในยุคนี้คล้ายกันกับแนวทางของโคมินิอุส ความรู้จะเกิดขึ้นอย่างพรั่งพรูจากกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาภาษาพูด ภาษาเขียน ซึ่งครูจะเห็นได้ชัดเจนว่า เด็ก ๆ นั้นอาศัยภาษาเป็นสื่อในการแก่ปัญหาต่าง ๆ อย่างมีความหมายในกระบวนการเรียนรู้ทั่ว ๆ ไปของเด็กในโรงเรียน (กู๊ดแมน สมิธ เมอร์ริดิธ และกู๊ดแมน : ๒๕๓๐) ส่วนครูก็เช่นกัน ครูใช้ภาษาทุกทักษะ ทุกด้าน ฟัง พูด อ่าน เขียน แบบองค์รวมในทุกกิจกรรมในห้องเรียน เช่น การวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ การแนะแนวหลักสูตร การทําจดหมายข่าว การเขียนบทความ การเขียนหนังสือต่าง ๆ ฯลฯ ครูบางกลุ่มได้อธิบายการพัฒนาปรับเปลี่ยนการอ่านของเด็กจนเกิดแนวทางใหม่ของการอ่านแบบภาษาธรรมชาติได้

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดโรธี วัตสัน และคณะในเมืองโคลัมเบีย รัฐมิสซูรี่ ได้ก่อตั้งกลุ่มครูกลุ่มแรก มีชื่อว่ากลุ่มครูประยุกต์ใช้แนวภาษาธรรมชาติ (TAWL) ที่ร่วมมือกันปรับเปลี่ยนแนวทางเข้าสู่ภาษาธรรมชาติ (Teacher support group) บทความเกี่ยวกับภาษาธรรมชาติเริ่มปรากฏมากขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการเรียนการสอนภาษาแบบธรรมชาติ เพื่อนําแนวทางนี้ไปใช้ในชั้นเรียน

นักทฤษฎีสําคัญที่ให้ความเข้าใจเรื่องภาษาธรรมชาติ


การสอนภาษาแบบธรรมชาติ (Whole Language Approach) มีวิวัฒนาการมาจากหลายศาสตร์ และหลายแนวคิด ในกลุ่มนักภาษาศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา พัฒนาการและการเรียนรู้ แนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติเป็นปรัชญาแนวคิด ไม่ใช้วิธีการสอนภาษาอย่างที่เข้าใจผิดกันเพราะจากแนวคิดนี้ ครู พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่สามารถนําไปสู่การสอนด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย

นักการศึกษาได้ชี้ให้เห็นพัฒนาการทางด้านการคิดและการใช้ภาษาของเด็กโดยการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจากสิ่งที่เรียนอย่างมีความหมาย เด็กจะรับและซึมซับข้อมูลทางภาษาจากสภาพแวดล้อมในบริบททางสังคม วัฒนธรรมและการใช้ภาษาร่วมกันกับผู้คนที่อยู่แวดล้อมใกล้ชิด ซึ่งจะทําให้เด็กเกิดการเรียนรู้ภาษาได้ดีโดยเด็กจะไม่เกิดความรู้สึกยากลําบากในการเรียนรู้เหมือนแนวการสอนภาษาในระบบโรงเรียนแบบเดิม แนวทางการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทางภาษาของเด็กในโรงเรียน จึงควรให้ตอบสนองธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก และเหมาะสมกับขั้นพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย หลักการ แนวคิดแบบภาษาธรรมชาตินี้ สามารถใช้เป็นวิธีการเรียนการสอนภาษาในโรงเรียน เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจในการเรียนรู้ภาษาอย่างมีความหมายต่อชีวิต

จากบทสัมภาษณ์ ศ.ดร.อารี สัณหฉวี ในโครงการวิจัยและพัฒนา ท่านให้ความรู้ว่า ภาษาธรรมชาติไม่ใช้วิธีการ ไม่ใช่ข้อกําหนดใด ๆ ที่จะชี้ความสําเร็จที่มีรูปแบบตายตัว แต่เป็นเรื่องของปรัชญาแนวคิดที่จะให้เด็ก ๆ เรียนรู้ให้อ่านออกเขียนได้ พัฒนาการเรียนการสอนภาษาของเด็ก ๆ ที่พบว่าแตกต่างจากวิธีที่สอนกันอยู่แบบเดิมในโรงเรียน ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนความสําคัญของนวัตกรรมนี้เกิดมาจากการได้แนวความคิดที่ค้นพบโดยการสังเกต การเรียนรู้ภาษาที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ จึงเหมาะกับพัฒนาการและความสามารถของเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนโต มีความชัดเจนอยู่สองแนว คือ การที่ผู้เรียนได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่นเสมือนบ้าน และอาบเอิบ (Immersion) ไปด้วย โลกของภาษาและหนังสือ คือคล้ายว่า ชุ่มฉํ่า จนซึบซับเข้าไปทุกขณะที่ได้ฟังพ่อแม่ ครู อ่านหนังสือให้ฟังทุกวันด้วยนั้นแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งคือ นักวิจัยเริ่มไปศึกษาการเรียนรู้ภาษาของเด็ก สังเกต ติดตาม ดูเด็กอายุขวบกว่า ๆ ถึงระดับประถม พบว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็กนั้น เป็นการเรียนรู้ที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ (Naturally) ซึ่งความรู้ที่พบสองทางนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา ที่สําคัญเหนือไปกว่าการรู้ภาษาอ่านออกเขียนได้ของเด็กนั้น นวัตกรรมการเรียนรู้ตามแนวภาษาธรรมชาติของเด็กนี้ เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะนําให้เด็กเข้าถึงความจริงโดยการฝึกเชื่อมโยงให้ผู้เรียนมองชีวิตและสรรพสิ่งจากภาพรวมไปสู่ส่วนย่อย ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นธรรมชาติและเปิดนําความสามารถของเขา เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างไม่มีขีดจํากัด ซึ่งเป็นรากฐานสําคัญในการไปสู่ขั้นสูงสุดของศักยภาพที่มนุษย์พึงจะเป็นได้ ปรัชญาแนวทางสูงสุดของปวงชนชาวไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระราชดํารัสแก่พสกนิกรชาวไทยเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ เรื่องภาษาและการเข้าถึงภาษา ดังนี้…ต้องหาวิธีที่จะทําการเรียนการสอนให้ได้ประโยชน์และสามารถเข้าใจความจริง ไม่ใช้ให้เข้าใจภาษาแต่เข้าใจวิชาการ ไม่ใช้วิชาการอย่างเดียวต้องเข้าใจวิธีปฏิบัติตน หมายถึงจริยธรรมต่าง ๆต้องเรียน ต้องรู้ ให้รู้กว้างขวางอันนี้เป็นข้อสํ าคัญในการพัฒนาการศึกษาถ้าไม่พัฒนาการศึกษาประเทศก็อยู่ไม่ได้ความเข้าใจของบุคคลจะไม่มี ถ้าความเข้าใจของบุคคลไม่มีข้อใดก็ตาม ที่คนไม่เข้าใจคือสื่อความหมายความคิดไม่ได้ถ้าไม่มีความรู้ โดยเฉพาะภาษาอันนี้ที่จะต้องแก้ไขที่บอกว่าแก้ไข เพราะรู้ว่ายังไม่ดี…

จากพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเห็นว่าพระองค์ให้ความสําคัญกับภาษาในฐานะเป็นเครื่องมือสําคัญที่จะทําให้เกิดความรู้ ความคิดเห็น ความเข้าใจในวิชาการ และการพัฒนาการศึกษามีความสัมพันธ์กับความอยู่รอดของประเทศชาติ ภาษาจึงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้โลกรอบตัวของเด็กตั้งแต่เกิด และเป็นสื่อในการเรียนให้ได้ความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ ในโรงเรียน วิธีการเรียนรู้ภาษาจึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา ค้นหาหนทางที่เด็กเรียนรู้แล้วได้ผลดี มีความสุขในการเรียนรู้ จนสามารถใช้ภาษาได้อย่างมีความหมาย ใช้ภาษาสื่อความเชื่อมโยงกับคนที่เด็กอยู่ใกล้ชิดได้ดีจนถึงระดับที่เด็กสามารถใช่ภาษาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ในยุคสารสนเทศนี้ผ่านภาษานั้นเอง นั่นคือพระราชดำรัสข้างต้นที่ว่า "สามารถเข้าใจความจริง ไม่ใช้ให้เข้าใจภาษา แต่เข้าใจวิชาการ"

นวัตกรรมภาษาธรรมชาติที่ปรากฏในเมืองไทย

ในประเทศไทยมีนักการศึกษาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้ให้ความสนใจเรื่ององค์ความรู้ของนวัตกรรมแนวทางภาษาธรรมชาติ (Whole language) และนํามาทดลองใช้ในโรงเรียน เท่าที่ปรากฏชัดคือ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ จนปัจจุบัน อาทิ เช่น ศ.ดร.อารี สัณหฉวี ผศ.ดร.ฉันทนา ภาคบงกช รศ.ดร.ภรณี คุรุรัตนะ ผศ.ดร.บุษบง ตันติวงศ์ ดร.วรนาท รักสกุลไทย ดร.พัชรี ผลโยธิน ดร.พวงเล็ก วรกุล ดร.หรรษา นิลวิเชียร ดร.พิกุล เหตระกูล ผศ.พิทยาภรณ์ มานะจุติ ผศ.อัญชลี ไสยวรรณ อาจารย์นฤมล เนียมหอม และอาจารย์อีกจํานวนมากที่ไม่สามารถกล่าวอ้างนามได้อย่างทั่วถึง

การเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติเป็นนวัตกรรมที่มีส่วนช่วยในการพลิกผันให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าสู่การศึกษาอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย ก่อให้เกิดปัญญากับผู้เรียนในบริบทของสังคมหรือตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ๆ แม้ว่าองค์ความรู้และที่มาของนวัตกรรมนี้จะเริ่มจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ คณะทำงานฝ่ายการศึกษามูลนิธิชมรมไทย-อิสราเอล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ได้เห็นความสําคัญของการพัฒนาภาษาสําหรับเด็กปฐมวัย จึงได้ศึกษาองค์ความรู้นี้อย่างต่อเนื่อง จนเห็นความสามารถทางภาษาของเด็กที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนอนุบาลของไทย

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ฝ่ายการศึกษามูลนิธิฯ ได้เชิญชวนเพื่อนจากโครงการเพื่อนร่วมทางสู่การศึกษาที่มีคุณค่าก่อให้เกิดปัญญา จากโรงเรียนต่าง ๆ จํานวน ๑๕ โรง ซึ่งมีความทุ่มเทให้กับการพลิกเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน มาศึกษาแนวคิดภาษาธรรมชาติโดยการจัดอบรมเชิงวิชาการและปฏิบัติการ โดยผู้เชี่ยวชาญชาวอิสราเอล ราเคล เคดาร์ และเจเน็ต เฮิร์ซแมน จากศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติ โกลดา แมรี่ เมาท์ คาร์เมล เมืองไฮฟา การศึกษาดูงาน การนําแนวคิดเข้าสู่การปฏิบัติจริงในโรงเรียน ผลสําเร็จที่เกิดขึ้นส่วนสำคัญคือการทํางานช่วยเหลือวิเคราะห์การศึกษาร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย เรียกว่า กลุ่มพลังหนุน (Support Group) เพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้กําลังใจ มีการอภิปรายเชิงวิเคราะห์และสะท้อนกลับ และการจัดนิทรรศการ แสดงผลงานเด็กและครูแลกเปลี่ยนกัน

กระบวนการเรียนการสอนแนวภาษาธรรมชาติสร้างทั้งความสุขให้กับผู้เรียนและครูผู้สอน ขอเพียงครูและผู้ปกครองต้องทําใจยอมรับความเปลี่ยนแปลง ยินดีทํางานเพิ่มขึ้นเพื่อสั่งสมความสามารถในการสอนและนําลูกศิษย์ หากท่านเป็นครูหรือผู้ปกครองที่ต้องการความท้าทายในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็สามารถศึกษาแนวทาง นวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาธรรมชาตินี้ แล้วทดลองใช้วิธีการที่ตนเองมั่นใจที่สุดก่อน แล้วท่านจะเห็นผลงานภาษาที่เกิดขึ้น แตกต่างจากแนวการสอนแบบเดิมด้วยตัวของท่านเอง

การเรียนรู้ภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวมช่วยสร้างสรรค์ปัญญาเด็กไทยได้อย่างไร

การสอนภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวมนั้น เริ่มจากครูต้องเข้าใจจุดเน้นของการเรียนรู้ภาษาแนวธรรมชาติ คือ ต้องเข้าใจพัฒนาการทางภาษาของเด็ก ซึ่งประกอบไปด้วย ความสามารถทางภาษา ๔ ด้าน คือ การฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ซึ่งมีกระบวนการคิดเป็นแกนสําคัญ เพราะการใช้ภาษาของเด็กในรูปแบบต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มาจากความคิดทั้งสิ้น

ดังนั้นในความหมายของภาษาธรรมชาติ การพัฒนามนุษย์จึงควรเริ่มต้นด้วยการพัฒนาความคิดก่อน โดยมีภาษาเป็นหน่วยสําคัญในการช่วยให้คนเราได้พัฒนาความคิดอย่างต่อเนื่อง ดังแสดงให้เห็นด้วยลักษณะของภาษาและการใช้ภาษานั้นมีหลายรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล ก็เนื่องมาจากความคิดที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง และการเรียนรู้ภาษาธรรมชาตินั้นหมายถึงการฝึกสร้างความสามารถทางภาษา ทั้งฟัง - พูด - อ่าน - เขียน ในแต่ละด้านจะต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกันโดยไม่แยกออกจากกัน จึงเรียกว่าการเรียนรู้ภาษาแบบองค์รวม ผู้สนใจต้องเข้าใจลักษณะการเรียนแบบนี้ให้ถูกต้อง แล้วฝึกสังเกตวิเคราะห์ร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องลําดับขั้นตอนพัฒนาการทางภาษาของเด็ก

การพัฒนาภาษาโดยองค์รวมต้องอาศัยการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งระบบ จึงทําให้เกิดการพลิกผันหรือเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในโรงเรียนได้ คือ เริ่มด้วยนโยบายของโรงเรียนควรเปลี่ยนแปลงไปก่อน ต่อมาจึงเปลี่ยนแปลงบทบาทพฤติกรรมการเรียนการสอน ครู เด็ก ในขณะเดียวกันต้องจัดสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียนให้เต็มไปด้วยโลกของภาษาเพื่อให้เด็กเข้าไปเรียนรู้ ค้นคว้า และซึมซับพัฒนาทางภาษา และการเรียนรู้ทุกด้านได้จากสภาพแวดล้อมนั่นเอง ซึ่งจะอธิบายใน ๒ ประเด็น คือ ๑. นโยบายและแนวทางของโรงเรียน ๒. องค์ประกอบการเรียนรู้ ๓ ส่วน คือ

๑. นโยบายและแนวทางการจัดการเรียนรู้ภาษาของโรงเรียนที่ควรเปลี่ยนแปลง

โรงเรียนเป็นหน่วยงานสําคัญในการจัดการศึกษาให้แก่ชุมชน ตามทัศนะของการสอนภาษาแบบธรรมชาติเห็นว่า โรงเรียนควรจัดการเรียนการสอนตามความเชื่อที่ว่า จัดหลักสูตรให้เหมาะกับพัฒนาการของเด็ก ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ไม่จําเป็นต้องมีตําราเฉพาะตายตัวสํ าหรับเด็ก แต่สามารถใช้หนังสือที่พบเห็นในชีวิต หนังสือที่เด็กชอบ จัดตําราเรียนที่มีคุณภาพ หนังสืออ่านนอกเวลา เป็นหนังสือที่เด็กสนใจ

หลักสูตรการศึกษาสําหรับเด็กแต่ละคนควรจะแตกต่างกันออกไปตามความแตกต่างของเด็กเป็นรายบุคคล ครูต้องพัฒนาการทํางานเป็นทีม เพราะในโลกของเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องทํางานเป็นทีม ครูต้องสอนเด็กให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข โรงเรียนต้องปลูกฝังความรักการเรียนรู้และการพัฒนาความสามารถทางภาษาให้เด็กเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และในความหมายของการรู้ภาษาในบทที่ ๑ ที่กล่าวไว้ข้างต้น ทํ าให้มองเห็นแนวทาง หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ภาษาที่เป็นองค์รวม โดยผ่านกระบวนการคิดได้ชัดเจน ดังนั้น โรงเรียนอนุบาลทุกวันนี้ ไม่ควรถือว่าการให้ความรู้เนื้อหาวิชาการเป็นเรื่องที่มีความสําคัญที่สุด แต่ควรให้เครื่องมือแก่เด็กในการเรียนรู้เองตลอดไป การจะบรรลุความต้องการนั้น เราต้องทำ ๓ เรื่องใหญ่ ๆ ที่เป็นองค์ประกอบการเรียนรู้ ๓ ส่วน คือ ๒. องค์ประกอบการเรียนรู้ ๓ ส่วน ๑. การจัดสภาพแวดล้อมในรูปแบบของการสอนภาษาธรรมชาติ ๒. กระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติตามวัยวุฒิของเด็ก ๓. การจัดการเรียนการสอนของครู

องค์ประกอบที่ ๑ การจัดสภาพแวดล้อมในรูปแบบของการสอนภาษาธรรมชาติ การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระและกิจกรรมตามแนวการสอนภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวม เริ่มต้นโดยการจัดพื้นที่ภายในห้องเรียนที่สามารถตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของเด็กที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ ในเรื่องของประสบการณ์และความพร้อมในการเรียนของแต่ละบุคคล หรือแต่ละกลุ่มความสนใจ ดังนั้น การจัดห้องเรียนจึงควรเป็นสถานที่ที่เด็กได้อยู่ในโลกของภาษา ตัวหนังสือสัญลักษณ์ที่มีความหมายต่อเรื่องที่เรียน มุมที่เด็กสนใจ โดยเด็กสามารถเข้าไปเรียนรู้ ซึมซับอย่างเอิบอาบไปด้วยภาษาได้ตลอดเวลา

องค์ประกอบ ๒ กระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติตามวัยวุฒิของเด็ก ครูต้องมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในตัวเด็กว่าเขาสามารถทํางานต่าง ๆ ได้ ถ้ามีความสนใจ มีฉันทะเกิดขึ้นแล้ว พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นเอง ซึ่งครูทุกคนต้องสังเกตตลอดเวลาให้เกิดเป็นประสบการณ์ตรงของครู และเป็นองค์ความรู้ด้านพัฒนาการของเด็กที่เป็นความรู้ประจักษ์อยู่ในงานของครูเอง ไม่ต้องไปแสวงหาความรู้นวัตกรรมใด นี้คือคุณสมบัติแท้จริงของครู ซึ่งพบว่าหาได้น้อยมากในเมืองไทย

โดยครูต้องระลึกรู้ว่าธรรมชาติของเด็กจะเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเรียนรู้ มีสมองไว้คิดและมีประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เพื่อการรับรู้ผ่านผัสสะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ทำให้สามารถเรียนรู้ ซึมซับสิ่งต่าง ๆ โดยธรรมชาติ และโดยการดําเนินชีวิตจริงร่วมกับพ่อแม่พี่น้อง สิ่งแวดล้อมรอบตัวทุกขณะ ทุกเวลา ทุกสถานที่

ราเคล (Rachel Keidar) ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมภาษาสําหรับเด็กปฐมวัยในการประชุมเรื่อง "การศึกษาปฐมวัยสร้างคนสร้างชาติ" (สถาบันแห่งชาติเพื่อการศึกษาสําหรับเด็กปฐมวัย : พ.ศ. ๒๕๔๒) ได้อธิบายทักษะความสามารถทางภาษาทั้ง ๔ ด้าน ฟัง - พูด - อ่าน -เขียน

องค์ประกอบที่ ๓ การจัดการเรียนการสอนของครู บทบาทของครูอนุบาลที่ถูกต้อง กระตุ้นและสิ่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยการพัฒนาเด็กต้องเริ่มจากตัวครูก่อน ครูต้องเข้าใจพัฒนาการหรือวัยวุฒิ รวมถึงกระบวนการอบรมเลี้ยงดูให้ถูกต้อง มีความเชื่อมั่นและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดไปในทางที่ดีขึ้น เพราะครูมีบทบาทสําคัญ มีอิทธิพลต่อความรู้สึก ความคิด และการแสดงออกของเด็ก ครูสามารถทําให้เด็กเรียนรู้ภาษา เข้าใจความหมาย เห็นโครงสร้างของภาษาอย่างองค์รวมก่อน เช่น การเรียนรู้จากนิทานทั้งเรื่อง เด็ก ๆ จะเรียนรู้ว่าในหนึ่งเรื่องนี้มีหลายหน้าที่ครูเปิดอ่าน แต่ละหน้าจะประกอบด้วยกลุ่มคํา ย่อหน้า ประโยค คําและอักษร ซึ่งค่อยแยกย่อยลงไป เห็นวิธีการเรียงร้อยกันของประโยคในภาษาของเรา ที่ครูอ่านหรือพูดให้ฟัง ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาได้อย่างราบรื่น

การจัดการเรียนการสอนที่สร้างให้เข้าใจการเรียนโดยไม่เกิดอุปสรรค หรือความคับข้องใจ จะทําให้ครูและเด็กมีปฏิสัมพันธ์กันในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ต่างเปิดประตูการสื่อการที่ดีต่อกัน และช่วยให้เกิดความสุข ความสําเร็จในการเรียนภาษา ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วครูจะจัดให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแบบเป็นแผน ในรูปแบบของกิจกรรมทางภาษาในกิจวัตรประจำวัน

ที่มา ...http://www.thaikids.org/whole/index_whole.htm

ความเป็นมาของแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย

การจัดการศึกษาตามแนวคิดเรกจิโอ เอมิเลียเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่พัฒนามาจากความเชื่อว่า การเรียนการสอนนั้นไม่ใช่การถ่ายโอนข้อมูลความรู้จากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน การสอนในเด็กปฐมวัยจึงไม่ใช่การมองว่าเด็กเป็นแก้วที่ว่างเปล่าที่ครูจะเทน้ำตามความต้องการของครูลงไปสู่เด็ก นักการศึกษาที่เรกจิโอ เอมีเลียเปรียบเทียบการเรียนรู้ของเด็กและการสอนของครูเป็นการผสมผสานของวัตถุจากแก้วทั้งสองใบรวมกัน การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจหรือเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเด็ก และบทบาทของครูจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้อย่างเต็มตามศักยภาพของเด็ก ครูจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจว่าเด็กมีวิธีการเรียนรู้ได้อย่างไรและเด็กมีความสามารถในการสื่อออกมาถึงความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ด้วยวิถีทางใด การจัดประสบการณ?การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางตามแนวคิดแรกจิโอ เอมีเลียจึงเป็นการจัดสภาพการเรียนรู้ที่สนองต่อความอยากรู้และแรงจูงใจภายในของเด็กในการเรียนรู้ภายใต้การจัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน

เรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia) เป็นเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีและเป็นจุดเริ่มต้นของความงอกงามของแนวคิดนี้ในปี ค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองแม่บ้านกลุ่มหนึ่งในวิลลา เซลลา (Villa Cella) ซึ่งเป็นหมู่เล็ก ๆ ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเรกจิโอ เอมีเลีย 2-3 ไมล์ มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการที่จะจัดการศึกษาสำหรับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านท่ามกลางซากปรักหักพังจากผลของสงคราม จากจุดเริ่มต้นนี้และภายใต้การนำของลอริสมาลากุซซี่ นักการศึกษา และกลุ่มผู้ปกครองได้ฟันฝ่าจนในปี ค.ศ. 1963 การปกครองท้องถิ่นในระดับเทศบาลยอมรับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นสวัสดิการจากการปกครองท้องถิ่นเป็นบริการทางสังคมที่เทศบาลจัดสรรให้แก่ประชาชน ผู้ปกครองต้องการโรงเรียนปฐมวัยรูปแบบใหม่ที่มีคุณภาพดีขึ้นนอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ดูแลเด็กเท่านั้น

มาลากุซซี่และกลุ่มนักการศึกษาได้ทำการศึกษาค้นคว้าทฤษฎี บทความ งานวิจัยข้อคิดเห็นจากศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทดลองปฏิบัติ แล้ววิเคราะห์สะท้อนผลการปฏิบัติ ทำการปรับปรุง จนได้แนวคิดและการปฏิบัติในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย และประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักของนักการศึกษาในกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เรกจิโอ เอมีเลีย ได้กลายเป็นชื่อของแนวคิดในการจัดการศึกษาสําหรับเด็กปฐมวัยเป็นต้นมา สำหรับแนวคิดสำคัญที่นำไปสู?การปฏิบัติในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยมีดังนี้คือ

1. วิธีการมองเด็ก (The image of the child) เด็กในสายตาของครูที่เรกจิโอ เอมิเลีย คือ เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่กำเนิดมา เด็กมีวิถีของการเรียนรู้เป็นไปตามระยะของพัฒนาการในแต่ละวัย เด็กแต่ละคนจะเต็มไปด้วยพลัง ความปรารถนาที่จะเติบโตและงอกงาม ความอยากรู้อยากเห็น ความสามารถในการแสดงออกถึงความต้องการที่จะสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้อื่น ด้วยการแสดงออกทางแววตา สีหน้า อากัปกริยา การจับต้องสัมผัส ฯลฯ โดยเฉพาะความต้องการที่จะสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นปรากฏออกมาตั้งแต่แรกเกิด ความสามารถในการสื่อสารนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับเด็กเพื่อการอยู่รอดและคงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเผ่าพันธุ์ที่ตนกําเนิดมา

2. โรงเรียนเป็นสถานที่บูรณาการสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย การใช้ชีวิตและมีสัมพันธ์ภาพร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก โรงเรียนเปรียบเสมือนสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการอยู่ตลอดเวลาและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ครอบครัวของเด็กต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตของเด็กในโรงเรียน นอกจากครอบครัวแล้วชุมชนก็จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ถึงความเป็นไปในโรงเรียนเช่นกัน เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงสิทธิที่พึงได้ของเด็กปฐมวัยและการยอมรับเด็กในฐานะของการเป็นผู้รับช่วงหน้าที่ในการจรรโลงสังคมในอนาคต

3. ครูและเด็กเรียนรู้ไปด้วยกัน การสอนและการเรียนต้องควบคู่ไปด้วยกัน แนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย จะให้ความสำคัญของการเรียนรู้มากกว่าการสอน มาลากุซซี่กล่าวว่า ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การสอน ถ้าครูยืนสังเกตอยู่ข้าง ๆ สักครู?และเรียนรู้จากห้องเรียนในขณะนั้นว่าเด็กกำลังทําอะไรอยู่ และถ้าครูสามารถเข้าใจได้ถูกต้อง บางทีการสอนในวันนั้น อาจแตกต่างจากที่ผ่านมา วัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาในแนวเรกจิโอ เอมีเลียคือการจัดสิ่งแวดล้อมและให้โอกาสเด็กได้คิดประดิษฐ์และค้นพบด้วยตนเอง การเรียนรู้ที่มีคุณค่าสําหรับเด็กจึงไม่ใช่การสอนจากครูที่เป็นการบอกเล่าโดยตรงแต่เป็นการจัดสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การเรียนเป็นกุญแจสําคัญที่นำสู่การสอนวิธีใหม่โดยครูเป็นผู้ประสานงาน ส่งเสริมและจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ ครูต้องมีการนำเสนอทางเลือกที่หลากหลาย การเสนอความคิดเห็นและเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้

ครูสำหรับเด็กปฐมวัยตามแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลียต้องปฏิบัติตัวเป็นนักศึกษา ค้นคว้าวิจัย เป็นนักสำรวจและตระเวนเก็บข้อมูลจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคนจากการประชุมปฏิบัติการ การสัมมนา หรือการมีโอกาสพบปะกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการในสาขาวิชาชีพหรืออาชีพต่าง ๆ เพื่อเป็นประสบการณ์และข้อมูลในครูแต่ละคน เพื่อที่จะโยงเข้าสู่การจัดสถานการณ์หรือกิจกรรมที่นำเด็กไปสู่ประสบการณ์เรียนรู้ที่ก้าวสู่การพัฒนาการทางในขั้นต่อ ๆ ไป สิ่งที่นักการศึกษาได้จากการพูดคุยอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้วนำไปสู่การปฏิบัติแนวใหม่ สิ่งเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการทำงานเท่านั้นแต่ยังเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นปกติในการทำงาน การศึกษา วิจัย ค้นคว้า แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มนักการศึกษาและกลุ่มปฏิบัติการการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอนำมาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่า คือการเป็นส่วนรวมของกลุ่มและก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเหนียวแน่น จากแนวคิดสำคัญประการต่าง ๆ ที่กล่าวมาเป็นปรัชญาทางการศึกษาที่กลุ่มนักการศึกษาในเรกจิโอ เอมิเลีย กำหนดเป็นเงื่อนไข เป็นกรอบความคิด เป็นฐานของความเชื่อและเป็นเข็มทิศที่นำไปสู?การกำหนดหลักสูตรและการปฏิบัติการจัดสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในเด็กโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน

ที่มาhttp://www.thaikids.org/Reggio/Reggiopage1.htm

เรียนี้ผ่านอุปกรณ์แบบ "มอนเตสซอรี่"

"การให้การศึกษากับเด็กในระยะเริ่มต้น จึงควรเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เติบโต ไปตามความต้องการตามธรรมชาติ"

มอนเตสซอรี่ Montessori เป็นรูปแบบการสอนเด็กเล็กที่ริเริ่มโดย ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ จิตแพทย์ชาวอิตาเลียน การให้การศึกษากับเด็กในระยะเริ่มต้น จึงควรเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เติบโตไปตามความต้องการตามธรรมชาติ โดยในครั้งแรกได้เริ่มต้นนำแนวการสอนนี้ไปใช้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เนื่องจากเล็งเห็นว่าเด็กเหล่านั้นก็มีความสามารถเรียนรู้ได้เช่นเดียวกับเด็กปกติ ซึ่งมีความเชื่อว่าการศึกษาของแต่ละคนจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองเป็นคนทำให้เกิดหรือไม่ให้เกิด ไม่ใช่การได้รับการศึกษาโดยคนอื่น มอนเตสซอรี่จะเน้นมากเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมอย่างสมบูรณ์และพิถีพิถัน เพื่อให้เด็กสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของพวกเขาให้ปรากฏออกมา การสอนแนวนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยเน้นการฝึกฝนทางด้านประสาทสัมผัส มือทั้งสองข้างของเด็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นครูคนสำคัญของเด็ก และแนวคิดนี้เชื่อว่าถ้าเด็กได้มีบางสิ่งบางอย่างที่ จะจับต้องและบิดหรือหมุนด้วยมือ สมองจะทำหน้าที่ตอบสนองได้ วัสดุอุปกรณ์ จึงจัดว่าเป็นหัวใจสำคัญในการสอนแนวนี้ ความมีอิสรภาพ การศึกษาด้วยตนเอง และการฝึกฝนทางประสาทสัมผัสนี้เอง คือจุดสำคัญของการสอนแนวมอนเตสซอรี่ ที่ใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบันกว่า 92 ปี
หลักการสำคัญ 5 ประการของหลักสูตรมอนเตสซอรี่
หนึ่ง เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือ (Respect for the Child) ในสภาพที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ตามลักษณะเฉพาะตัวและความแตกต่างของพวกเขา
สอง เด็กมีจิตที่ซึมซาบได้ จิตของเด็กเหมือนฟองน้ำ ซึ่งจะซึมซาบข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม (Absorbent mind)
สาม ช่วงตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ คือช่วงเวลาหลักของชีวิต (Sensitive Periods) คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ในระยะแรก เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่สติปัญญาของคนเริ่มพัฒนา
สี่ การเตรียมสิ่งแวดล้อม เด็กเรียนได้ดีที่สุดในสภาพการจัดสิ่งแวดล้อมที่ได้ตระเตรียมเอาไว้อย่างมีจุดมุ่งหมาย เด็กจะได้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามความคิดของตนเองอย่างมีอิสระ (Prepared Environment)
ห้า การศึกษาด้วยตนเอง (Self or auto-Education) เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามสภาพแวดล้อมที่เตรียมไว้อย่างสมบูรณ์ มีอิสรภาพในการทำงาน และมีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่อง
มอนเตสซอรี่จัดการศึกษาที่สอดคล้องกับแนวคิดนี้และเน้นให้การศึกษาเด็กเป็นรายบุคคล ตามความสามารถ และความต้องการตามธรรมชาติ โดยจัดหลักสูตรพื้นฐานสำหรับเด็กอายุ 3-6 ขวบไว้ 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ การศึกษาทางด้านทักษะกลไก (Moter Education) การศึกษาทางด้านประสาทสัมผัส (Education of Sensis) และการตระเตรียมสำหรับการเขียนและคณิตศาสตร์ (Education for Writing and Arithmetic)
การจัดชั้นเรียนจะคละอายุเด็ก โดยจัดให้ช่วงอายุห่างกัน 3 ปีในแต่ละชั้น เพื่อให้เด็กได้รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนแต่ละชิ้นมีจุดมุ่งหมายเฉพาะในการใช้ และผ่านการพิสูจน์แล้วว่าเด็กชอบสนใจ เหมาะกับวัย และพัฒนาการของพวกเขาครอบคลุมหลักสูตรพื้นฐานทั้ง 3 กลุ่มหลัก คือมีอุปกรณ์กลุ่มศึกษาทางด้านทักษะกลไก เช่นอุปกรณ์สำหรับการซักและรีดผ้า อุปกรณ์ทางด้านประสาทสัมผัส เช่น ทรงกระบอกมีจุกสำหรับประสาทสัมผัสในเรื่องของมิติ ระฆังทองเหลืองสำหรับฝึกประสาทสัมผัสทางหู และอุปกรณ์ศึกษาทางวิชาการ เช่น อักษรกระดาษทราย กล่องนับแท่งไม้
ซึ่งโรงเรียนมอนเตสซอรี่ทั่วโลกจะใช้อุปกรณ์การสอนแบบเดียวกันทั้งหมดขณะเดียวกัน ก็มีการอนุโลมให้ใช้อุปกรณ์ บางอย่างที่ทำจากวัสดุท้องถิ่น แต่ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางการเรียนรู้ที่กำหนด
ห้องเรียนของการสอนแนวนี้จะมีลักษณะพิเศษคือเปิดโล่ง เด็กจะได้ทำกิจกรรมอย่างอิสระ ตามความต้องการของตน ในห้องเรียนจะไม่มีโต๊ะและเก้าอี้ครูภายในห้องมีชั้นวางของ ซึ่งอยู่ในระดับสายตา บนชั้นมีอุปกรณ์มอนเตสซอรี่จัดวางไว้ เป็นหมวดหมู่ มีตำแหน่งการวางที่แน่นอน เพียงหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งอุปกรณ์เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักรอคอย
ครูผู้สอนจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการสอนจากศูนย์ฝึกอบรมครูของ ระบบการสอน แบบมอนเตสซอรี่ โดยศึกษาหลักสูตร 1 ปี และฝึกงานในโรงเรียน 1 ปี เมื่อผ่านการประเมินจะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อเป็นครูในระบบนี้ต่อไป ครูจะใช้วิธีการสอนสามขั้นตอน ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้สำหรับสอนความคิดรวบยอดใหม่ ด้วยการทำซ้ำ ประกอบด้วยขั้นแรก สังเกตเห็นลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น ทำเชื่อมโยงกับสิ่งที่ครูสาธิตให้ดูกับชื่อสิ่งนั้นได้ขั้นสอง สังเกตเห็นความแตกต่าง มั่นใจว่าเด็กเข้าใจในสิ่งที่ครูบอกขั้นสาม เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งของที่มีความคล้ายคลึงกัน ขั้นตอนนี้เพื่อที่จะได้ทราบว่าเด็กจำชื่อสิ่งต่างๆ ที่ครูสาธิตให้ดูได้หรือไม่
การประเมินผลของระบบมอนเตสซอรี่จะใช้การสังเกตความสามารถในการทำกิจกรรม ของเด็กในแต่ละกลุ่มวิชาการใช้อุปกรณ์การเรียนในแต่ละชิ้นส่วนใหญ่จะส่งผลงาน ของนักเรียน ไปให้ผู้ปกครองทุกวันศุกร์ และกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ปกครองมาสังเกตการเรียนการสอนของโรงเรียน
อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับการพูดถึงข้อดีตรงกันในเรื่องของการให้อิสระ การสร้างวินัยในตนเอง และทำให้เด็กเกิดสมาธิ แต่ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก คือการไม่เปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กันอันเกิดจากการจัดชั้นเรียน และการจัดการเรียนการสอน ที่เน้นการทำงานเป็นรายบุคคล และการไม่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เนื่องจากเด็กจะต้องทำตามการสาธิตการใช้อุปกรณ์ของครูซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทำได้

ที่มา : สานปฏิรูป กันยายน 2542

หลักการและรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย

ความเป็นมา หลักการและรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทยเป็นองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นโดย รองศาสตราจารย์ดร.ทิศนา แขมมณี และคณาจารย์ภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์ความรู้นี้ เป็น ผลงาน จากโครงการวิจัย ซึ่งหน่วยปฏิบัต ิการวิจัยการศึกษาปฐมวัย ภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดําเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 โดยดำเนิน การเป็นโครงการย่อยมาเป็นลำดับ รวมทั้ง สิ้น 6 โครงการ จนสามารถสรุปเป็นหลักการและรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถชีวิตไทย และจัดพิมพ์เผยแพร่ ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2535 และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2536 โดยการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากองค์การ UNICEF และฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทฤษฎีที่มีอิทธิพล จากการรวบรวมทฤษฎีและหลักการเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กและการจัดการศึกษาสําหรับเด็กปฐมวัย พบว่าทฤษฎีและหลักการที่ใช้ กันอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นทฤษฎีและหลักการของต่างประเทศ ประเทศไทยเรายังไม่มี ทฤษฎีหรือหลักการในการพัฒนาเด็ก ที่พัฒนาขึ้นจากฐานข้อมูลที่มาจากเด็กไทย และบริบททางสังคมและ วัฒนธรรมไทย ดังนั้นคณะกรรมการวิจัย จึงได้พยายามศึกษาและผสมผสานความรู้ ตามหลักสากลกับภูมิปัญญา วิถีชีวิตและระบบคุณค่าของสังคมไทยเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้ได้หลักการและ รูปแบบในการพัฒนาเด็ก ไทยให้มีคุณ ภาพ แต่อย่างไรก็ตามสามารถแบ่งแนวคิดทฤษฎีได้ดังนี้ 1. แนวคิด หลักการ และข้อมูลของไทย ได้แก่ แนวคิดทางพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก ประกอบด้วยแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนามนุษย์ กระบวนการพัฒนาสติปัญญา กระบวนการพัฒนาคุณธรรม และกระบวนการกัลยาณมิตร แนวคิดทางวัฒนธรรมไทย ประกอบด้วยแนวคิดเกี่ยวกับสํานึกความเป็นไทย ความประพฤติของเด็กไทย การอบรมเลี้ยงดูเด็ก ด้านค่านิยมและคุณธรรม การอบรมเลี้ยงดูเด็กด้วยรักและถนอม แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาษา สิ่งแวดล้อมทางจิต วิญญาณและทางธรรมชาติ และวงศาคณาญาติ ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการของเด็กไทย แนวโน้มของสังคมและเด็กไทยในอนาคต 2. แนวคิด หลักการ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก และได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ แนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับการศึกษา ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก โดยครอบครัว แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัย ประกอบด้วย แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้และแนวคิดเกี่ยวกับ การเล่นของเด็กปฐมวัย กระบวนการ องค์ความรู้ที่ได้เป็นผลมาจากการดำเนินงานตามกระบวนการ ดังนี้ 1. ขั้นการสร้างหลักการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย คณะกรรมการวิจัยรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน ทั้งของไทยและต่างประเทศ วิเคราะห์แนวคิดที่ใช้เป็นฐานของการวิจัย และกำหนดเป็นหลักการในการพัฒนาเด็ก 2. ขั้นการสร้างรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามวิถีชีวิตไทยโดยกําหนดกรอบความคิด โครงสร้าง เนื้อหา วิธีการและกิจกรรมการพัฒนาเด็กให้สอดคล้องกับหลักการในการพัฒนาเด็กที่กำหนดไว้ แล้วเสนอให้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญและผ ู้มีประสบการณ์ ได้พิจารณาให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แล้วนำข้อมูลที่ได้ มาปรับปรุงรูปแบบให้สมบูรณ์ขึ้น 3. ขั้นการทดลองใช้หลักการและรูปแบบที่พัฒนาขึ้น โดยการพัฒนาสื่อตามที่รูปแบบนําไปทดลองใช้ ในหมู่บ้านชนบทของไทย ใน 4 ภาคภูมิศาสตร์ และเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล 4. ขั้นการเผยแพร่ผลงานวิจัย โดยจัดพิมพ์ผลงานเผยแพร่ในประเทศไทยและแปลผลงานเป็นภาษาอังกฤษ จัดพิมพ์เผยแพร่ในต่างประเทศ ผลงานวิจัยอันเป็นองค์ความรู้ : หลักการและรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย 1. ผลการพัฒนาหลักการและรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย 1.1 หลักการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการข้อมูล 4 ด้าน คือ หลักการทางพระพุทธศาสนา หลักการทางวัฒนธรรมไทย หลักการทางการศึกษาปฐมวัย และข้อมูล เกี่ยวกับความต้องการ ปัญหาและแนวโน้มของสังคมไทยและ เด็กไทยมีทั้งสิ้น 4 หมวด รวม 123 ข้อ ดังนี้ หลักการทั่วไปในการพัฒนาเด็ก มีจํานวน 8 ข้อ หลักการในการเตรียมครอบครัวเด็ก มีจํานวน 8 ข้อ หลักการในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย รวม 94 ข้อ จำแนกเป็น หลักการทั่วไปในการส่งเสริมพัฒนาการ ของเด็กปฐมวัย มี 24 ข้อ และหลักการในการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัย 70 ข้อ หลักการในการ พัฒนาผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก 13 ข้อ 1.2 รูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย ที่พัฒนาขึ้นโดยยึดหลักการพัฒนาเด็กปฐมวัยมี 2 รูปแบบ คือ 1 ) รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ตามวิถีชีวิตไทยโดยครอบครัวเป็นรูปแบบที่มุ่งพัฒนาเด็กวัย0-3 ปี ผ่านทางการพัฒนาพ่อ แม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก รูปแบบนี้ได้จัดทำสาระเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่จําเป็นและสอดคล้อง กับหลักการที่เป็นพื้นฐาน และได้พัฒนา สื่อต่างๆ ห้พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็กได้ศึกษาประกอบด้วยหนังสือชุดการอบรม เลี้ยงดููเด็กเล็กจํานวน 37 เล่ม เทปเสียงบรรยายสาระในหนังสือ จํานวน 37 ตลับ และปฏิทินสรุปสาระสําคัญจาก หนังสือ 37 เล่ม โดยการให้บุคคลในชุมชนที่มีความสามารถทําหน้าที่จัดการศึกษาต่อเนื่อง ให้พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ได้มาศึกษาร่วมกัน จัดสัปดาห์ละครั้งต่อเนื่องกันเป็นระยะยาว โดยดําเนินการตามกระบวนการและสื่อที่ให้ไว้ตามคู่มือ การอบรมผู้เลี้ยงดูเด็ก การศึกษาในลักษณะนี้สามารถช่วยพัฒนานิสัยการเรียนรู้และกระบวน การเรียนรู้ของพ่อแม่ไป พร้อมๆกับการพัฒนาความ รู้ความเข้าใจและ การปฏิบัติเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ทั้งยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ ์ และความร่วมมือในครอบครัวด้วย 2 ) รูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย เป็นรูปแบบที่มุ่งพัฒนาเด็กวัย 3-6 ปี ผ่านทางการพัฒนา ผู้ดูแลเด็ก รูปแบบนี้ได ้กำหนดกิจกรรมประจำวันของเด็ก ซึ่งได้จัดไว้อย่างมีหลักการและมีสัดส่วนสมดุลกันในเรื่องต่างๆ ที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะวิธีการจัดกิจกรรมและประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็ก ซึ่งมีทั้งการ ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต ได้เรียนรู้แบบธรรม ชาติจากการปฏิสัมพันธ ์กับบุคคล สื่อ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ และ ได้เรียนรู้จากการสอนโดยตรงซึ่งผู้ดูแลเด็กสามารถเรียนรู้ได้จากการฝึก ปฏิบัติในการทํางานจริง โดยได้รับการนิเทศ จากผู้นิเทศที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก ซึ่งจะนิเทศให้ผู้ดูแลเด็กสามารถ ปฏิบัติงานได้ ตามคู่มือการ จัดกิจกรรมและประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย 2. ผลการทดลองนำร่องการใช้รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย สรุปได้ดังนี้ หลักการที่ใช้เป็นพื้นฐาน ในการพัฒนารูปแบบมีความเหมาะสม รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ตามวิถีชีวิตไทยโดยครอบครัว เอื้ออำนวยให้คนในชุมชนสามารถช่วยกันพัฒนาพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็กในชุมชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดููเด็กได้ดี แม้ว่าผู้ เลี้ยงดูเด็กจะมีพื้นฐานทางการศึกษาไม่เกิน ประถมศึกษาปีที่ 6 อย่างไรก็ตาม ผลจากความ รู้ความเข้าใจ ของพ่อแม่เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ส่งผลถึงตัวเด็กนั้น ยังไม่สามารถสรุป ได้ชัดเจนจำเป็นต้องติด ตามต่อไป รูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทยมีความเหมาะสม สามารถช่วยให้ผู้ดูแลเด็กจัดการศึกษา ให้แก่เด็กได้ดีขึ้น แม้ว่าผู้ดูแล เด็กจะมีความรู้ที่จํากัด และมีปัญหาหลายประการ เช่น จำนวนเด็กมีมาก อาคารสถานที่ไม่เอื้ออำนวย วัสดุอุปกรณ์การสอนมีน้อย ผลจากการทดลองนำร่องการใช้รูปแบบเสนอแนะ 2 รูปแบบ ดังกล่าวนัยว่าประสบผลสําเร็จในภาพรวม แต่ยังต้องการการปรับปรุงและ การดำเนินการต่อไป ในจุด ที่ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเวลาจำกัดงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยและพัฒนา การพัฒนา จึงได้ดำเนินการต่อไป โดยปัจจุบันคณะผู้วิจัย กำลังดำเนินการต่อเนื่องเป็นโครงการที่ 7 เพื่อติดตามผลการใช้รูปแบบ การพัฒนา เด็กปฐมวัย ตามวิถีชีวิตไทยต่อไป ที่มา : http://www.childthai.org/cic/c276.htm ข้อมูลเพิ่มเติม
  • ทิศนา แขมมณีและคณะ หลักการและรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย กรุงเทพฯ :

โรงพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2536 ( พิมพ์ครั้งที่ 2 )

  • ทิศนา แขมมณีและคณะ รายงานการวิจัยเรื่อง หลักการและรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย

หน่วยปฎิบัติการวิจัย การศึกษาปฐมวัย ภาควิชาการศึกษาปฐมวัย ภาควิชาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกสารเย็บเล่ม , 2536