27 กุมภาพันธ์ 2551

ความเป็นมาของแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย

การจัดการศึกษาตามแนวคิดเรกจิโอ เอมิเลียเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่พัฒนามาจากความเชื่อว่า การเรียนการสอนนั้นไม่ใช่การถ่ายโอนข้อมูลความรู้จากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน การสอนในเด็กปฐมวัยจึงไม่ใช่การมองว่าเด็กเป็นแก้วที่ว่างเปล่าที่ครูจะเทน้ำตามความต้องการของครูลงไปสู่เด็ก นักการศึกษาที่เรกจิโอ เอมีเลียเปรียบเทียบการเรียนรู้ของเด็กและการสอนของครูเป็นการผสมผสานของวัตถุจากแก้วทั้งสองใบรวมกัน การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจหรือเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเด็ก และบทบาทของครูจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้อย่างเต็มตามศักยภาพของเด็ก ครูจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจว่าเด็กมีวิธีการเรียนรู้ได้อย่างไรและเด็กมีความสามารถในการสื่อออกมาถึงความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ด้วยวิถีทางใด การจัดประสบการณ?การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางตามแนวคิดแรกจิโอ เอมีเลียจึงเป็นการจัดสภาพการเรียนรู้ที่สนองต่อความอยากรู้และแรงจูงใจภายในของเด็กในการเรียนรู้ภายใต้การจัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน

เรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia) เป็นเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีและเป็นจุดเริ่มต้นของความงอกงามของแนวคิดนี้ในปี ค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองแม่บ้านกลุ่มหนึ่งในวิลลา เซลลา (Villa Cella) ซึ่งเป็นหมู่เล็ก ๆ ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเรกจิโอ เอมีเลีย 2-3 ไมล์ มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการที่จะจัดการศึกษาสำหรับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านท่ามกลางซากปรักหักพังจากผลของสงคราม จากจุดเริ่มต้นนี้และภายใต้การนำของลอริสมาลากุซซี่ นักการศึกษา และกลุ่มผู้ปกครองได้ฟันฝ่าจนในปี ค.ศ. 1963 การปกครองท้องถิ่นในระดับเทศบาลยอมรับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นสวัสดิการจากการปกครองท้องถิ่นเป็นบริการทางสังคมที่เทศบาลจัดสรรให้แก่ประชาชน ผู้ปกครองต้องการโรงเรียนปฐมวัยรูปแบบใหม่ที่มีคุณภาพดีขึ้นนอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ดูแลเด็กเท่านั้น

มาลากุซซี่และกลุ่มนักการศึกษาได้ทำการศึกษาค้นคว้าทฤษฎี บทความ งานวิจัยข้อคิดเห็นจากศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทดลองปฏิบัติ แล้ววิเคราะห์สะท้อนผลการปฏิบัติ ทำการปรับปรุง จนได้แนวคิดและการปฏิบัติในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย และประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักของนักการศึกษาในกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เรกจิโอ เอมีเลีย ได้กลายเป็นชื่อของแนวคิดในการจัดการศึกษาสําหรับเด็กปฐมวัยเป็นต้นมา สำหรับแนวคิดสำคัญที่นำไปสู?การปฏิบัติในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยมีดังนี้คือ

1. วิธีการมองเด็ก (The image of the child) เด็กในสายตาของครูที่เรกจิโอ เอมิเลีย คือ เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่กำเนิดมา เด็กมีวิถีของการเรียนรู้เป็นไปตามระยะของพัฒนาการในแต่ละวัย เด็กแต่ละคนจะเต็มไปด้วยพลัง ความปรารถนาที่จะเติบโตและงอกงาม ความอยากรู้อยากเห็น ความสามารถในการแสดงออกถึงความต้องการที่จะสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้อื่น ด้วยการแสดงออกทางแววตา สีหน้า อากัปกริยา การจับต้องสัมผัส ฯลฯ โดยเฉพาะความต้องการที่จะสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นปรากฏออกมาตั้งแต่แรกเกิด ความสามารถในการสื่อสารนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับเด็กเพื่อการอยู่รอดและคงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเผ่าพันธุ์ที่ตนกําเนิดมา

2. โรงเรียนเป็นสถานที่บูรณาการสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย การใช้ชีวิตและมีสัมพันธ์ภาพร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก โรงเรียนเปรียบเสมือนสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการอยู่ตลอดเวลาและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ครอบครัวของเด็กต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตของเด็กในโรงเรียน นอกจากครอบครัวแล้วชุมชนก็จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ถึงความเป็นไปในโรงเรียนเช่นกัน เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงสิทธิที่พึงได้ของเด็กปฐมวัยและการยอมรับเด็กในฐานะของการเป็นผู้รับช่วงหน้าที่ในการจรรโลงสังคมในอนาคต

3. ครูและเด็กเรียนรู้ไปด้วยกัน การสอนและการเรียนต้องควบคู่ไปด้วยกัน แนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย จะให้ความสำคัญของการเรียนรู้มากกว่าการสอน มาลากุซซี่กล่าวว่า ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การสอน ถ้าครูยืนสังเกตอยู่ข้าง ๆ สักครู?และเรียนรู้จากห้องเรียนในขณะนั้นว่าเด็กกำลังทําอะไรอยู่ และถ้าครูสามารถเข้าใจได้ถูกต้อง บางทีการสอนในวันนั้น อาจแตกต่างจากที่ผ่านมา วัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาในแนวเรกจิโอ เอมีเลียคือการจัดสิ่งแวดล้อมและให้โอกาสเด็กได้คิดประดิษฐ์และค้นพบด้วยตนเอง การเรียนรู้ที่มีคุณค่าสําหรับเด็กจึงไม่ใช่การสอนจากครูที่เป็นการบอกเล่าโดยตรงแต่เป็นการจัดสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การเรียนเป็นกุญแจสําคัญที่นำสู่การสอนวิธีใหม่โดยครูเป็นผู้ประสานงาน ส่งเสริมและจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ ครูต้องมีการนำเสนอทางเลือกที่หลากหลาย การเสนอความคิดเห็นและเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้

ครูสำหรับเด็กปฐมวัยตามแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลียต้องปฏิบัติตัวเป็นนักศึกษา ค้นคว้าวิจัย เป็นนักสำรวจและตระเวนเก็บข้อมูลจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคนจากการประชุมปฏิบัติการ การสัมมนา หรือการมีโอกาสพบปะกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการในสาขาวิชาชีพหรืออาชีพต่าง ๆ เพื่อเป็นประสบการณ์และข้อมูลในครูแต่ละคน เพื่อที่จะโยงเข้าสู่การจัดสถานการณ์หรือกิจกรรมที่นำเด็กไปสู่ประสบการณ์เรียนรู้ที่ก้าวสู่การพัฒนาการทางในขั้นต่อ ๆ ไป สิ่งที่นักการศึกษาได้จากการพูดคุยอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้วนำไปสู่การปฏิบัติแนวใหม่ สิ่งเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการทำงานเท่านั้นแต่ยังเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นปกติในการทำงาน การศึกษา วิจัย ค้นคว้า แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มนักการศึกษาและกลุ่มปฏิบัติการการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอนำมาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่า คือการเป็นส่วนรวมของกลุ่มและก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเหนียวแน่น จากแนวคิดสำคัญประการต่าง ๆ ที่กล่าวมาเป็นปรัชญาทางการศึกษาที่กลุ่มนักการศึกษาในเรกจิโอ เอมิเลีย กำหนดเป็นเงื่อนไข เป็นกรอบความคิด เป็นฐานของความเชื่อและเป็นเข็มทิศที่นำไปสู?การกำหนดหลักสูตรและการปฏิบัติการจัดสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในเด็กโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน

ที่มาhttp://www.thaikids.org/Reggio/Reggiopage1.htm

ไม่มีความคิดเห็น: