27 กุมภาพันธ์ 2551

เรียนี้ผ่านอุปกรณ์แบบ "มอนเตสซอรี่"

"การให้การศึกษากับเด็กในระยะเริ่มต้น จึงควรเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เติบโต ไปตามความต้องการตามธรรมชาติ"

มอนเตสซอรี่ Montessori เป็นรูปแบบการสอนเด็กเล็กที่ริเริ่มโดย ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ จิตแพทย์ชาวอิตาเลียน การให้การศึกษากับเด็กในระยะเริ่มต้น จึงควรเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เติบโตไปตามความต้องการตามธรรมชาติ โดยในครั้งแรกได้เริ่มต้นนำแนวการสอนนี้ไปใช้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เนื่องจากเล็งเห็นว่าเด็กเหล่านั้นก็มีความสามารถเรียนรู้ได้เช่นเดียวกับเด็กปกติ ซึ่งมีความเชื่อว่าการศึกษาของแต่ละคนจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองเป็นคนทำให้เกิดหรือไม่ให้เกิด ไม่ใช่การได้รับการศึกษาโดยคนอื่น มอนเตสซอรี่จะเน้นมากเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมอย่างสมบูรณ์และพิถีพิถัน เพื่อให้เด็กสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของพวกเขาให้ปรากฏออกมา การสอนแนวนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยเน้นการฝึกฝนทางด้านประสาทสัมผัส มือทั้งสองข้างของเด็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นครูคนสำคัญของเด็ก และแนวคิดนี้เชื่อว่าถ้าเด็กได้มีบางสิ่งบางอย่างที่ จะจับต้องและบิดหรือหมุนด้วยมือ สมองจะทำหน้าที่ตอบสนองได้ วัสดุอุปกรณ์ จึงจัดว่าเป็นหัวใจสำคัญในการสอนแนวนี้ ความมีอิสรภาพ การศึกษาด้วยตนเอง และการฝึกฝนทางประสาทสัมผัสนี้เอง คือจุดสำคัญของการสอนแนวมอนเตสซอรี่ ที่ใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบันกว่า 92 ปี
หลักการสำคัญ 5 ประการของหลักสูตรมอนเตสซอรี่
หนึ่ง เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือ (Respect for the Child) ในสภาพที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ตามลักษณะเฉพาะตัวและความแตกต่างของพวกเขา
สอง เด็กมีจิตที่ซึมซาบได้ จิตของเด็กเหมือนฟองน้ำ ซึ่งจะซึมซาบข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม (Absorbent mind)
สาม ช่วงตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ คือช่วงเวลาหลักของชีวิต (Sensitive Periods) คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ในระยะแรก เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่สติปัญญาของคนเริ่มพัฒนา
สี่ การเตรียมสิ่งแวดล้อม เด็กเรียนได้ดีที่สุดในสภาพการจัดสิ่งแวดล้อมที่ได้ตระเตรียมเอาไว้อย่างมีจุดมุ่งหมาย เด็กจะได้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามความคิดของตนเองอย่างมีอิสระ (Prepared Environment)
ห้า การศึกษาด้วยตนเอง (Self or auto-Education) เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามสภาพแวดล้อมที่เตรียมไว้อย่างสมบูรณ์ มีอิสรภาพในการทำงาน และมีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่อง
มอนเตสซอรี่จัดการศึกษาที่สอดคล้องกับแนวคิดนี้และเน้นให้การศึกษาเด็กเป็นรายบุคคล ตามความสามารถ และความต้องการตามธรรมชาติ โดยจัดหลักสูตรพื้นฐานสำหรับเด็กอายุ 3-6 ขวบไว้ 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ การศึกษาทางด้านทักษะกลไก (Moter Education) การศึกษาทางด้านประสาทสัมผัส (Education of Sensis) และการตระเตรียมสำหรับการเขียนและคณิตศาสตร์ (Education for Writing and Arithmetic)
การจัดชั้นเรียนจะคละอายุเด็ก โดยจัดให้ช่วงอายุห่างกัน 3 ปีในแต่ละชั้น เพื่อให้เด็กได้รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนแต่ละชิ้นมีจุดมุ่งหมายเฉพาะในการใช้ และผ่านการพิสูจน์แล้วว่าเด็กชอบสนใจ เหมาะกับวัย และพัฒนาการของพวกเขาครอบคลุมหลักสูตรพื้นฐานทั้ง 3 กลุ่มหลัก คือมีอุปกรณ์กลุ่มศึกษาทางด้านทักษะกลไก เช่นอุปกรณ์สำหรับการซักและรีดผ้า อุปกรณ์ทางด้านประสาทสัมผัส เช่น ทรงกระบอกมีจุกสำหรับประสาทสัมผัสในเรื่องของมิติ ระฆังทองเหลืองสำหรับฝึกประสาทสัมผัสทางหู และอุปกรณ์ศึกษาทางวิชาการ เช่น อักษรกระดาษทราย กล่องนับแท่งไม้
ซึ่งโรงเรียนมอนเตสซอรี่ทั่วโลกจะใช้อุปกรณ์การสอนแบบเดียวกันทั้งหมดขณะเดียวกัน ก็มีการอนุโลมให้ใช้อุปกรณ์ บางอย่างที่ทำจากวัสดุท้องถิ่น แต่ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางการเรียนรู้ที่กำหนด
ห้องเรียนของการสอนแนวนี้จะมีลักษณะพิเศษคือเปิดโล่ง เด็กจะได้ทำกิจกรรมอย่างอิสระ ตามความต้องการของตน ในห้องเรียนจะไม่มีโต๊ะและเก้าอี้ครูภายในห้องมีชั้นวางของ ซึ่งอยู่ในระดับสายตา บนชั้นมีอุปกรณ์มอนเตสซอรี่จัดวางไว้ เป็นหมวดหมู่ มีตำแหน่งการวางที่แน่นอน เพียงหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งอุปกรณ์เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักรอคอย
ครูผู้สอนจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการสอนจากศูนย์ฝึกอบรมครูของ ระบบการสอน แบบมอนเตสซอรี่ โดยศึกษาหลักสูตร 1 ปี และฝึกงานในโรงเรียน 1 ปี เมื่อผ่านการประเมินจะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อเป็นครูในระบบนี้ต่อไป ครูจะใช้วิธีการสอนสามขั้นตอน ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้สำหรับสอนความคิดรวบยอดใหม่ ด้วยการทำซ้ำ ประกอบด้วยขั้นแรก สังเกตเห็นลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น ทำเชื่อมโยงกับสิ่งที่ครูสาธิตให้ดูกับชื่อสิ่งนั้นได้ขั้นสอง สังเกตเห็นความแตกต่าง มั่นใจว่าเด็กเข้าใจในสิ่งที่ครูบอกขั้นสาม เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งของที่มีความคล้ายคลึงกัน ขั้นตอนนี้เพื่อที่จะได้ทราบว่าเด็กจำชื่อสิ่งต่างๆ ที่ครูสาธิตให้ดูได้หรือไม่
การประเมินผลของระบบมอนเตสซอรี่จะใช้การสังเกตความสามารถในการทำกิจกรรม ของเด็กในแต่ละกลุ่มวิชาการใช้อุปกรณ์การเรียนในแต่ละชิ้นส่วนใหญ่จะส่งผลงาน ของนักเรียน ไปให้ผู้ปกครองทุกวันศุกร์ และกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ปกครองมาสังเกตการเรียนการสอนของโรงเรียน
อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับการพูดถึงข้อดีตรงกันในเรื่องของการให้อิสระ การสร้างวินัยในตนเอง และทำให้เด็กเกิดสมาธิ แต่ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก คือการไม่เปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กันอันเกิดจากการจัดชั้นเรียน และการจัดการเรียนการสอน ที่เน้นการทำงานเป็นรายบุคคล และการไม่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เนื่องจากเด็กจะต้องทำตามการสาธิตการใช้อุปกรณ์ของครูซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทำได้

ที่มา : สานปฏิรูป กันยายน 2542

ไม่มีความคิดเห็น: