27 กุมภาพันธ์ 2551

ภาษาธรรมชาติ

ความเป็นมา

ภาษาธรรมชาติ (Whole Language) เป็นคําที่พบครั้งแรกในหนังสือภาพของเด็กที่เขียนโดย จอห์น อามอส โคมินิอุส ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ (กู๊ดแมน : ๒๕๑๓) ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่เหมือนย่อโลกไว้ และภาษาธรรมชาตินั้นเต็มไปด้วยภาพสิ่งต่าง ๆ - ชื่อ - คําอธิบายสิ่งเหล่านั้น

ส่วนความหมายของภาษาธรรมชาติของโคมินิอุส จะไม่เหมือนความหมายในปัจจุบันเสียทั้งหมด แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นลักษระเด็นสําคัญที่คํานึงถึงวิธีการเรียนรู้แบบเด็ก ๆ ด้วยการใช้ภาษาเช่นเดียวกับปัจจุบันที่เราใช้นี้เอง โคมินิอุสเชื่อว่า เด็กสามารถค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ ได้ด้วยการนําเสนอด้วยสิ่งที่เด็กคุ้นเคยในชีวิตอยู่แล้ว เด็กจะเข้าใจสิ่งของที่เป็นรูปธรรมได้โดยการใช้ภาษาถิ่นหรือภาษาในชีวิตประจําวันของเด็ก

นักการศึกษาในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ - ๒๐ ได้ระบุว่าหลักการของการเรียนรู้ภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวมในยุคนี้คล้ายกันกับแนวทางของโคมินิอุส ความรู้จะเกิดขึ้นอย่างพรั่งพรูจากกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาภาษาพูด ภาษาเขียน ซึ่งครูจะเห็นได้ชัดเจนว่า เด็ก ๆ นั้นอาศัยภาษาเป็นสื่อในการแก่ปัญหาต่าง ๆ อย่างมีความหมายในกระบวนการเรียนรู้ทั่ว ๆ ไปของเด็กในโรงเรียน (กู๊ดแมน สมิธ เมอร์ริดิธ และกู๊ดแมน : ๒๕๓๐) ส่วนครูก็เช่นกัน ครูใช้ภาษาทุกทักษะ ทุกด้าน ฟัง พูด อ่าน เขียน แบบองค์รวมในทุกกิจกรรมในห้องเรียน เช่น การวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ การแนะแนวหลักสูตร การทําจดหมายข่าว การเขียนบทความ การเขียนหนังสือต่าง ๆ ฯลฯ ครูบางกลุ่มได้อธิบายการพัฒนาปรับเปลี่ยนการอ่านของเด็กจนเกิดแนวทางใหม่ของการอ่านแบบภาษาธรรมชาติได้

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดโรธี วัตสัน และคณะในเมืองโคลัมเบีย รัฐมิสซูรี่ ได้ก่อตั้งกลุ่มครูกลุ่มแรก มีชื่อว่ากลุ่มครูประยุกต์ใช้แนวภาษาธรรมชาติ (TAWL) ที่ร่วมมือกันปรับเปลี่ยนแนวทางเข้าสู่ภาษาธรรมชาติ (Teacher support group) บทความเกี่ยวกับภาษาธรรมชาติเริ่มปรากฏมากขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการเรียนการสอนภาษาแบบธรรมชาติ เพื่อนําแนวทางนี้ไปใช้ในชั้นเรียน

นักทฤษฎีสําคัญที่ให้ความเข้าใจเรื่องภาษาธรรมชาติ


การสอนภาษาแบบธรรมชาติ (Whole Language Approach) มีวิวัฒนาการมาจากหลายศาสตร์ และหลายแนวคิด ในกลุ่มนักภาษาศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา พัฒนาการและการเรียนรู้ แนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติเป็นปรัชญาแนวคิด ไม่ใช้วิธีการสอนภาษาอย่างที่เข้าใจผิดกันเพราะจากแนวคิดนี้ ครู พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่สามารถนําไปสู่การสอนด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย

นักการศึกษาได้ชี้ให้เห็นพัฒนาการทางด้านการคิดและการใช้ภาษาของเด็กโดยการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจากสิ่งที่เรียนอย่างมีความหมาย เด็กจะรับและซึมซับข้อมูลทางภาษาจากสภาพแวดล้อมในบริบททางสังคม วัฒนธรรมและการใช้ภาษาร่วมกันกับผู้คนที่อยู่แวดล้อมใกล้ชิด ซึ่งจะทําให้เด็กเกิดการเรียนรู้ภาษาได้ดีโดยเด็กจะไม่เกิดความรู้สึกยากลําบากในการเรียนรู้เหมือนแนวการสอนภาษาในระบบโรงเรียนแบบเดิม แนวทางการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทางภาษาของเด็กในโรงเรียน จึงควรให้ตอบสนองธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก และเหมาะสมกับขั้นพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย หลักการ แนวคิดแบบภาษาธรรมชาตินี้ สามารถใช้เป็นวิธีการเรียนการสอนภาษาในโรงเรียน เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจในการเรียนรู้ภาษาอย่างมีความหมายต่อชีวิต

จากบทสัมภาษณ์ ศ.ดร.อารี สัณหฉวี ในโครงการวิจัยและพัฒนา ท่านให้ความรู้ว่า ภาษาธรรมชาติไม่ใช้วิธีการ ไม่ใช่ข้อกําหนดใด ๆ ที่จะชี้ความสําเร็จที่มีรูปแบบตายตัว แต่เป็นเรื่องของปรัชญาแนวคิดที่จะให้เด็ก ๆ เรียนรู้ให้อ่านออกเขียนได้ พัฒนาการเรียนการสอนภาษาของเด็ก ๆ ที่พบว่าแตกต่างจากวิธีที่สอนกันอยู่แบบเดิมในโรงเรียน ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนความสําคัญของนวัตกรรมนี้เกิดมาจากการได้แนวความคิดที่ค้นพบโดยการสังเกต การเรียนรู้ภาษาที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ จึงเหมาะกับพัฒนาการและความสามารถของเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนโต มีความชัดเจนอยู่สองแนว คือ การที่ผู้เรียนได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่นเสมือนบ้าน และอาบเอิบ (Immersion) ไปด้วย โลกของภาษาและหนังสือ คือคล้ายว่า ชุ่มฉํ่า จนซึบซับเข้าไปทุกขณะที่ได้ฟังพ่อแม่ ครู อ่านหนังสือให้ฟังทุกวันด้วยนั้นแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งคือ นักวิจัยเริ่มไปศึกษาการเรียนรู้ภาษาของเด็ก สังเกต ติดตาม ดูเด็กอายุขวบกว่า ๆ ถึงระดับประถม พบว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็กนั้น เป็นการเรียนรู้ที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ (Naturally) ซึ่งความรู้ที่พบสองทางนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา ที่สําคัญเหนือไปกว่าการรู้ภาษาอ่านออกเขียนได้ของเด็กนั้น นวัตกรรมการเรียนรู้ตามแนวภาษาธรรมชาติของเด็กนี้ เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะนําให้เด็กเข้าถึงความจริงโดยการฝึกเชื่อมโยงให้ผู้เรียนมองชีวิตและสรรพสิ่งจากภาพรวมไปสู่ส่วนย่อย ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นธรรมชาติและเปิดนําความสามารถของเขา เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างไม่มีขีดจํากัด ซึ่งเป็นรากฐานสําคัญในการไปสู่ขั้นสูงสุดของศักยภาพที่มนุษย์พึงจะเป็นได้ ปรัชญาแนวทางสูงสุดของปวงชนชาวไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระราชดํารัสแก่พสกนิกรชาวไทยเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ เรื่องภาษาและการเข้าถึงภาษา ดังนี้…ต้องหาวิธีที่จะทําการเรียนการสอนให้ได้ประโยชน์และสามารถเข้าใจความจริง ไม่ใช้ให้เข้าใจภาษาแต่เข้าใจวิชาการ ไม่ใช้วิชาการอย่างเดียวต้องเข้าใจวิธีปฏิบัติตน หมายถึงจริยธรรมต่าง ๆต้องเรียน ต้องรู้ ให้รู้กว้างขวางอันนี้เป็นข้อสํ าคัญในการพัฒนาการศึกษาถ้าไม่พัฒนาการศึกษาประเทศก็อยู่ไม่ได้ความเข้าใจของบุคคลจะไม่มี ถ้าความเข้าใจของบุคคลไม่มีข้อใดก็ตาม ที่คนไม่เข้าใจคือสื่อความหมายความคิดไม่ได้ถ้าไม่มีความรู้ โดยเฉพาะภาษาอันนี้ที่จะต้องแก้ไขที่บอกว่าแก้ไข เพราะรู้ว่ายังไม่ดี…

จากพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเห็นว่าพระองค์ให้ความสําคัญกับภาษาในฐานะเป็นเครื่องมือสําคัญที่จะทําให้เกิดความรู้ ความคิดเห็น ความเข้าใจในวิชาการ และการพัฒนาการศึกษามีความสัมพันธ์กับความอยู่รอดของประเทศชาติ ภาษาจึงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้โลกรอบตัวของเด็กตั้งแต่เกิด และเป็นสื่อในการเรียนให้ได้ความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ ในโรงเรียน วิธีการเรียนรู้ภาษาจึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา ค้นหาหนทางที่เด็กเรียนรู้แล้วได้ผลดี มีความสุขในการเรียนรู้ จนสามารถใช้ภาษาได้อย่างมีความหมาย ใช้ภาษาสื่อความเชื่อมโยงกับคนที่เด็กอยู่ใกล้ชิดได้ดีจนถึงระดับที่เด็กสามารถใช่ภาษาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ในยุคสารสนเทศนี้ผ่านภาษานั้นเอง นั่นคือพระราชดำรัสข้างต้นที่ว่า "สามารถเข้าใจความจริง ไม่ใช้ให้เข้าใจภาษา แต่เข้าใจวิชาการ"

นวัตกรรมภาษาธรรมชาติที่ปรากฏในเมืองไทย

ในประเทศไทยมีนักการศึกษาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้ให้ความสนใจเรื่ององค์ความรู้ของนวัตกรรมแนวทางภาษาธรรมชาติ (Whole language) และนํามาทดลองใช้ในโรงเรียน เท่าที่ปรากฏชัดคือ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ จนปัจจุบัน อาทิ เช่น ศ.ดร.อารี สัณหฉวี ผศ.ดร.ฉันทนา ภาคบงกช รศ.ดร.ภรณี คุรุรัตนะ ผศ.ดร.บุษบง ตันติวงศ์ ดร.วรนาท รักสกุลไทย ดร.พัชรี ผลโยธิน ดร.พวงเล็ก วรกุล ดร.หรรษา นิลวิเชียร ดร.พิกุล เหตระกูล ผศ.พิทยาภรณ์ มานะจุติ ผศ.อัญชลี ไสยวรรณ อาจารย์นฤมล เนียมหอม และอาจารย์อีกจํานวนมากที่ไม่สามารถกล่าวอ้างนามได้อย่างทั่วถึง

การเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติเป็นนวัตกรรมที่มีส่วนช่วยในการพลิกผันให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าสู่การศึกษาอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย ก่อให้เกิดปัญญากับผู้เรียนในบริบทของสังคมหรือตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ๆ แม้ว่าองค์ความรู้และที่มาของนวัตกรรมนี้จะเริ่มจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ คณะทำงานฝ่ายการศึกษามูลนิธิชมรมไทย-อิสราเอล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ได้เห็นความสําคัญของการพัฒนาภาษาสําหรับเด็กปฐมวัย จึงได้ศึกษาองค์ความรู้นี้อย่างต่อเนื่อง จนเห็นความสามารถทางภาษาของเด็กที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนอนุบาลของไทย

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ฝ่ายการศึกษามูลนิธิฯ ได้เชิญชวนเพื่อนจากโครงการเพื่อนร่วมทางสู่การศึกษาที่มีคุณค่าก่อให้เกิดปัญญา จากโรงเรียนต่าง ๆ จํานวน ๑๕ โรง ซึ่งมีความทุ่มเทให้กับการพลิกเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน มาศึกษาแนวคิดภาษาธรรมชาติโดยการจัดอบรมเชิงวิชาการและปฏิบัติการ โดยผู้เชี่ยวชาญชาวอิสราเอล ราเคล เคดาร์ และเจเน็ต เฮิร์ซแมน จากศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติ โกลดา แมรี่ เมาท์ คาร์เมล เมืองไฮฟา การศึกษาดูงาน การนําแนวคิดเข้าสู่การปฏิบัติจริงในโรงเรียน ผลสําเร็จที่เกิดขึ้นส่วนสำคัญคือการทํางานช่วยเหลือวิเคราะห์การศึกษาร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย เรียกว่า กลุ่มพลังหนุน (Support Group) เพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้กําลังใจ มีการอภิปรายเชิงวิเคราะห์และสะท้อนกลับ และการจัดนิทรรศการ แสดงผลงานเด็กและครูแลกเปลี่ยนกัน

กระบวนการเรียนการสอนแนวภาษาธรรมชาติสร้างทั้งความสุขให้กับผู้เรียนและครูผู้สอน ขอเพียงครูและผู้ปกครองต้องทําใจยอมรับความเปลี่ยนแปลง ยินดีทํางานเพิ่มขึ้นเพื่อสั่งสมความสามารถในการสอนและนําลูกศิษย์ หากท่านเป็นครูหรือผู้ปกครองที่ต้องการความท้าทายในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็สามารถศึกษาแนวทาง นวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาธรรมชาตินี้ แล้วทดลองใช้วิธีการที่ตนเองมั่นใจที่สุดก่อน แล้วท่านจะเห็นผลงานภาษาที่เกิดขึ้น แตกต่างจากแนวการสอนแบบเดิมด้วยตัวของท่านเอง

การเรียนรู้ภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวมช่วยสร้างสรรค์ปัญญาเด็กไทยได้อย่างไร

การสอนภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวมนั้น เริ่มจากครูต้องเข้าใจจุดเน้นของการเรียนรู้ภาษาแนวธรรมชาติ คือ ต้องเข้าใจพัฒนาการทางภาษาของเด็ก ซึ่งประกอบไปด้วย ความสามารถทางภาษา ๔ ด้าน คือ การฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ซึ่งมีกระบวนการคิดเป็นแกนสําคัญ เพราะการใช้ภาษาของเด็กในรูปแบบต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มาจากความคิดทั้งสิ้น

ดังนั้นในความหมายของภาษาธรรมชาติ การพัฒนามนุษย์จึงควรเริ่มต้นด้วยการพัฒนาความคิดก่อน โดยมีภาษาเป็นหน่วยสําคัญในการช่วยให้คนเราได้พัฒนาความคิดอย่างต่อเนื่อง ดังแสดงให้เห็นด้วยลักษณะของภาษาและการใช้ภาษานั้นมีหลายรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล ก็เนื่องมาจากความคิดที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง และการเรียนรู้ภาษาธรรมชาตินั้นหมายถึงการฝึกสร้างความสามารถทางภาษา ทั้งฟัง - พูด - อ่าน - เขียน ในแต่ละด้านจะต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกันโดยไม่แยกออกจากกัน จึงเรียกว่าการเรียนรู้ภาษาแบบองค์รวม ผู้สนใจต้องเข้าใจลักษณะการเรียนแบบนี้ให้ถูกต้อง แล้วฝึกสังเกตวิเคราะห์ร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องลําดับขั้นตอนพัฒนาการทางภาษาของเด็ก

การพัฒนาภาษาโดยองค์รวมต้องอาศัยการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งระบบ จึงทําให้เกิดการพลิกผันหรือเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในโรงเรียนได้ คือ เริ่มด้วยนโยบายของโรงเรียนควรเปลี่ยนแปลงไปก่อน ต่อมาจึงเปลี่ยนแปลงบทบาทพฤติกรรมการเรียนการสอน ครู เด็ก ในขณะเดียวกันต้องจัดสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียนให้เต็มไปด้วยโลกของภาษาเพื่อให้เด็กเข้าไปเรียนรู้ ค้นคว้า และซึมซับพัฒนาทางภาษา และการเรียนรู้ทุกด้านได้จากสภาพแวดล้อมนั่นเอง ซึ่งจะอธิบายใน ๒ ประเด็น คือ ๑. นโยบายและแนวทางของโรงเรียน ๒. องค์ประกอบการเรียนรู้ ๓ ส่วน คือ

๑. นโยบายและแนวทางการจัดการเรียนรู้ภาษาของโรงเรียนที่ควรเปลี่ยนแปลง

โรงเรียนเป็นหน่วยงานสําคัญในการจัดการศึกษาให้แก่ชุมชน ตามทัศนะของการสอนภาษาแบบธรรมชาติเห็นว่า โรงเรียนควรจัดการเรียนการสอนตามความเชื่อที่ว่า จัดหลักสูตรให้เหมาะกับพัฒนาการของเด็ก ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ไม่จําเป็นต้องมีตําราเฉพาะตายตัวสํ าหรับเด็ก แต่สามารถใช้หนังสือที่พบเห็นในชีวิต หนังสือที่เด็กชอบ จัดตําราเรียนที่มีคุณภาพ หนังสืออ่านนอกเวลา เป็นหนังสือที่เด็กสนใจ

หลักสูตรการศึกษาสําหรับเด็กแต่ละคนควรจะแตกต่างกันออกไปตามความแตกต่างของเด็กเป็นรายบุคคล ครูต้องพัฒนาการทํางานเป็นทีม เพราะในโลกของเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องทํางานเป็นทีม ครูต้องสอนเด็กให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข โรงเรียนต้องปลูกฝังความรักการเรียนรู้และการพัฒนาความสามารถทางภาษาให้เด็กเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และในความหมายของการรู้ภาษาในบทที่ ๑ ที่กล่าวไว้ข้างต้น ทํ าให้มองเห็นแนวทาง หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ภาษาที่เป็นองค์รวม โดยผ่านกระบวนการคิดได้ชัดเจน ดังนั้น โรงเรียนอนุบาลทุกวันนี้ ไม่ควรถือว่าการให้ความรู้เนื้อหาวิชาการเป็นเรื่องที่มีความสําคัญที่สุด แต่ควรให้เครื่องมือแก่เด็กในการเรียนรู้เองตลอดไป การจะบรรลุความต้องการนั้น เราต้องทำ ๓ เรื่องใหญ่ ๆ ที่เป็นองค์ประกอบการเรียนรู้ ๓ ส่วน คือ ๒. องค์ประกอบการเรียนรู้ ๓ ส่วน ๑. การจัดสภาพแวดล้อมในรูปแบบของการสอนภาษาธรรมชาติ ๒. กระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติตามวัยวุฒิของเด็ก ๓. การจัดการเรียนการสอนของครู

องค์ประกอบที่ ๑ การจัดสภาพแวดล้อมในรูปแบบของการสอนภาษาธรรมชาติ การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระและกิจกรรมตามแนวการสอนภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวม เริ่มต้นโดยการจัดพื้นที่ภายในห้องเรียนที่สามารถตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของเด็กที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ ในเรื่องของประสบการณ์และความพร้อมในการเรียนของแต่ละบุคคล หรือแต่ละกลุ่มความสนใจ ดังนั้น การจัดห้องเรียนจึงควรเป็นสถานที่ที่เด็กได้อยู่ในโลกของภาษา ตัวหนังสือสัญลักษณ์ที่มีความหมายต่อเรื่องที่เรียน มุมที่เด็กสนใจ โดยเด็กสามารถเข้าไปเรียนรู้ ซึมซับอย่างเอิบอาบไปด้วยภาษาได้ตลอดเวลา

องค์ประกอบ ๒ กระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติตามวัยวุฒิของเด็ก ครูต้องมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในตัวเด็กว่าเขาสามารถทํางานต่าง ๆ ได้ ถ้ามีความสนใจ มีฉันทะเกิดขึ้นแล้ว พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นเอง ซึ่งครูทุกคนต้องสังเกตตลอดเวลาให้เกิดเป็นประสบการณ์ตรงของครู และเป็นองค์ความรู้ด้านพัฒนาการของเด็กที่เป็นความรู้ประจักษ์อยู่ในงานของครูเอง ไม่ต้องไปแสวงหาความรู้นวัตกรรมใด นี้คือคุณสมบัติแท้จริงของครู ซึ่งพบว่าหาได้น้อยมากในเมืองไทย

โดยครูต้องระลึกรู้ว่าธรรมชาติของเด็กจะเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเรียนรู้ มีสมองไว้คิดและมีประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เพื่อการรับรู้ผ่านผัสสะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ทำให้สามารถเรียนรู้ ซึมซับสิ่งต่าง ๆ โดยธรรมชาติ และโดยการดําเนินชีวิตจริงร่วมกับพ่อแม่พี่น้อง สิ่งแวดล้อมรอบตัวทุกขณะ ทุกเวลา ทุกสถานที่

ราเคล (Rachel Keidar) ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมภาษาสําหรับเด็กปฐมวัยในการประชุมเรื่อง "การศึกษาปฐมวัยสร้างคนสร้างชาติ" (สถาบันแห่งชาติเพื่อการศึกษาสําหรับเด็กปฐมวัย : พ.ศ. ๒๕๔๒) ได้อธิบายทักษะความสามารถทางภาษาทั้ง ๔ ด้าน ฟัง - พูด - อ่าน -เขียน

องค์ประกอบที่ ๓ การจัดการเรียนการสอนของครู บทบาทของครูอนุบาลที่ถูกต้อง กระตุ้นและสิ่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยการพัฒนาเด็กต้องเริ่มจากตัวครูก่อน ครูต้องเข้าใจพัฒนาการหรือวัยวุฒิ รวมถึงกระบวนการอบรมเลี้ยงดูให้ถูกต้อง มีความเชื่อมั่นและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดไปในทางที่ดีขึ้น เพราะครูมีบทบาทสําคัญ มีอิทธิพลต่อความรู้สึก ความคิด และการแสดงออกของเด็ก ครูสามารถทําให้เด็กเรียนรู้ภาษา เข้าใจความหมาย เห็นโครงสร้างของภาษาอย่างองค์รวมก่อน เช่น การเรียนรู้จากนิทานทั้งเรื่อง เด็ก ๆ จะเรียนรู้ว่าในหนึ่งเรื่องนี้มีหลายหน้าที่ครูเปิดอ่าน แต่ละหน้าจะประกอบด้วยกลุ่มคํา ย่อหน้า ประโยค คําและอักษร ซึ่งค่อยแยกย่อยลงไป เห็นวิธีการเรียงร้อยกันของประโยคในภาษาของเรา ที่ครูอ่านหรือพูดให้ฟัง ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาได้อย่างราบรื่น

การจัดการเรียนการสอนที่สร้างให้เข้าใจการเรียนโดยไม่เกิดอุปสรรค หรือความคับข้องใจ จะทําให้ครูและเด็กมีปฏิสัมพันธ์กันในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ต่างเปิดประตูการสื่อการที่ดีต่อกัน และช่วยให้เกิดความสุข ความสําเร็จในการเรียนภาษา ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วครูจะจัดให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแบบเป็นแผน ในรูปแบบของกิจกรรมทางภาษาในกิจวัตรประจำวัน

ที่มา ...http://www.thaikids.org/whole/index_whole.htm

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เนื่องจาก Whole Language Approach เป็นปรัชญาแนวคิด ไม่ใช่วิธีการสอนภาษา
และมีความหมายกว้างกว่าการเป็นเพียงคำนาม

จึงน่าเพิ่มคำของชื่อเรื่องเป็นว่า
ภาษาแบบธรรมชาติ หรือ
ภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวม หรือ
แนวการสอนภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวม